เทคโนโลยีชีวภาพ คือ การนำความรู้เกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต หรือผลผลิตของสิ่งมีชีวิตมาใช้ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่มนุษย์ ในปัจจุบัน มีการนำวิทยาการทางเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่มนุษย์ในหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านการแพทย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม รวมถึงทางด้านการค้า
วิธีการทางเทคโนโลยีชีวภาพ
ในด้านการเกษตร การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากรโลก ซึ่งสวนทางกับการลดลงของพื้นที่ ที่ทำการเกษตร รวมทั้งสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ผลิตผลทางการเกษตรที่ผลิตได้ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนอาหาร และสภาวะการได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ในพื้นที่หลายแห่งทั่วโลก ในอดีต มีการนำเอาเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาใช้ เพื่อเพิ่มและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต เช่น การใช้กระบวนการปรับปรุงพันธุ์พืชหรือสัตว์ให้มีลักษณะต่างๆ ตามความต้องการ รวมทั้งเกิดการปฏิวัติเขียว (Green revolution) ที่นำเอาวิธีการที่หลากหลายมาใช้ เพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น การใช้ปุ๋ยเคมี การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และการชลประทาน วิธีการเหล่านี้สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่เพียงพอ เพราะกระบวนการปรับปรุงพันธุ์แบบเดิม ใช้ระยะเวลานาน อีกทั้งการใช้สารเคมีทาง การเกษตรต่างๆ เพื่อการเพิ่มผลผลิต ยังส่งผลต่อการเกิดสภาวะเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เกิดสารพิษตกค้างในดินและน้ำ เกิดการสูญหายของแมลง ที่เป็นประโยชน์ และพืชพื้นเมืองที่ใช้เป็นแหล่งพันธุกรรม ในการปรับปรุงพันธุ์
วิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพจึงเป็นทางเลือกใหม่ในการปรับปรุงพันธุ์ เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ทำการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือจัดการกับหน่วยพันธุกรรมหรือยีนที่ควบคุมการแสดงลักษณะต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตโดยตรง ทำให้สามารถพัฒนาสิ่งมีชีวิตให้มีลักษณะต่างๆ ตามต้องการ ในระยะเวลาอันรวดเร็ว และลดความเสียหาย ที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อม จากการใช้สารเคมีในกระบวนการเพิ่มผลผลิตได้
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช
งานด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร แบ่งออกเป็น ๓ ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ งานด้านพันธุศาสตร์โมเลกุล งานด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช และงานการส่งถ่ายยีน ซึ่งงานทั้ง ๓ ส่วน มีความเกี่ยวพันกับสิ่งมีชีวิตโดยตรง เพราะเกี่ยวข้องกับเซลล์ สารพันธุกรรม รวมถึงกระบวนการทางชีวเคมีต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต
๑. พันธุศาสตร์โมเลกุล เป็นงานที่ศึกษาถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิต ในระดับสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ ซึ่งสามารถบอกถึงความแตกต่างได้ละเอียด และแม่นยำ มากกว่าการแยกความแตกต่างจากสิ่งที่เห็น หรือปรากฏภายนอก ทั้งนี้โดยการนำคุณสมบัติของดีเอ็นเอที่มีลักษณะเฉพาะ และมีความแตกต่างกันในสิ่งมีชีวิต แต่ละชนิด มาตรวจสอบด้วยวิธีการต่างๆ ของงานด้านพันธุศาสตร์โมเลกุล
ผลการตรวจสอบจะแสดงลักษณะของแถบดีเอ็นเอที่มีรูปแบบแตกต่างกัน เช่น ลักษณะการต้านทานโรคในสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง จะมีลักษณะของแถบดีเอ็นเอ ที่แตกต่างจากลักษณะของแถบดีเอ็นเอ ที่แสดงลักษณะไม่ต้านทานโรค ในสิ่งมีชีวิตเดียวกัน ทำให้สามารถแยกกลุ่มของสิ่งมีชีวิตได้ วิทยาการด้านพันธุศาสตร์โมเลกุล จึงถูกนำมาใช้ เพื่อการพัฒนา และปรับปรุงงานด้านการเกษตรในหลายๆ ด้าน เช่น การทำเอกลักษณ์ทางพันธุกรรมพืชและสัตว์ เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลสำคัญ ในโครงการปรับปรุงพันธุ์ต่างๆ หรือการนำมาใช้คัดเลือกพันธุ์พืชหรือสัตว์ ที่มีลักษณะตามต้องการ เพื่อนำมาใช้เป็นพันธุ์ปลูก หรือเพาะเลี้ยงต่อไป
การใช้พันธุศาสตร์โมเลกุล ในการจำแนกความแตกต่างของสิ่งมีชีวิต
๒. การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการเพาะเลี้ยงเซลล์ หรือชิ้นส่วนต่างๆ ของพืช ให้เกิดการเจริญเติบโต หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการ บนอาหารสังเคราะห์ ภายใต้สภาพแวดล้อมของการเพาะเลี้ยง ที่สามารถควบคุมได้ เทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการ เช่น เพื่อการขยายพันธุ์เพิ่มจำนวนต้นพืชให้ได้ปริมาณมาก เพื่อการปรับปรุง และคัดเลือกพันธุ์พืช ให้มีลักษณะตรงตามความต้องการ รวมทั้งเพื่อการกระตุ้น ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมให้เกิดพันธุ์พืชใหม่ที่มีลักษณะแตกต่างไปจากเดิม
การพัฒนาของเนื้อเยื่อพืชในระบบการเพาะเลี้ยง
๓. การส่งถ่ายยีน เป็นงานที่อาศัยความรู้ และวิธีการต่างๆ ของงานด้านพันธุศาสตร์โมเลกุล และการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช มาใช้ร่วมกับเทคโนโลยีการส่งถ่ายยีน เพื่อส่งถ่ายยีนหรือหน่วยพันธุกรรม ที่ทำหน้าที่ควบคุมการแสดงลักษณะต่างๆ ในสิ่งมีชีวิต ที่ต้องการ เข้าสู่พืชหรือสัตว์เป้าหมาย ทำให้เกิดการเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลง ลักษณะทางพันธุกรรมแก่พืชหรือสัตว์ให้มีลักษณะตามต้องการ
เทคโนโลยีชีวภาพได้นำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรมากมาย ทั้งการนำมาใช้ เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์พืชและสัตว์ ที่มีลักษณะตามที่ต้องการ การค้นหายีนที่ควบคุมการแสดงออกของลักษณะทางพันธุกรรมต่างๆ เพื่อช่วยในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์ รวมถึงการสร้างพืชและสัตว์พันธุ์ใหม่ ดังนั้น การทำความเข้าใจ และศึกษา เกี่ยวกับวิทยาการด้านเทคโนโลยีชีวภาพจึงมีความสำคัญ เพื่อประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต