ยาที่เราใช้บํารุงร่างกาย รักษา หรือป้องกันโรคนั้น แต่เดิมได้มาจากการสังเกตและทดลองใช้สิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติทั้งพืช สัตว์ และแร่ธาตุ แล้วบอกเล่าสรรพคุณและวิธีการปรุงยาต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น เช่น การใช้ว่านหางจระเข้ในการรักษาแผลน้ำร้อนลวก การใช้ต้นฟ้าทะลายโจรรักษาอาการไข้เจ็บคอ จนกระทั่งความรู้ด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์มีความก้าวหน้ามาก จึงมีการค้นคว้าวิจัยยาอย่างเป็นระบบโดยเภสัชกร ทำให้สามารถสกัดสารสำคัญจากธรรมชาติ หรือสังเคราะห์สารเคมีขึ้นมา เป็นยาใหม่ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพดี ไม่มีอาการข้างเคียงหรือเกิดพิษน้อย เช่น การพัฒนายาอินซูลินจากตับอ่อนของโค หรือสุกร เพื่อใช้รักษาโรคเบาหวานโดย เฟรเดอริก จี. แบนติง (Frederick G. Banting) ชาวแคนาดา การพัฒนายาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียจากเชื้อราเพนิซิลเลียมไครโซจีนัม (Penicillium chrysogenum) โดย เซอร์อะเล็กซานเดอร์ เฟลมิง (Sir Alexander Fleming) ชาวอังกฤษ
การขยายตัวของอุตสาหกรรมยาแผนปัจจุบันต้องใช้ความรู้ในหลายสาขาวิชา โดยผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนด้วยการลงทุน มูลค่าสูงถึง ๘๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ในระยะเวลาหลายปีเฉลี่ยนานถึง ๑๕ ปี โดยเริ่มต้นจากการคัดเลือก และวิเคราะห์สกัด หรือสังเคราะห์สารสำคัญที่มีคุณสมบัติเป็นยาจากสารประกอบจำนวนกว่าหมื่นชนิด เพื่อนำมาศึกษาความแรงในการออกฤทธิ์ และความเป็นพิษของยาในหลอดทดลอง แล้วนำมาทดสอบการเปลี่ยนแปลงของยาในร่างกายสัตว์ทดลอง เพื่อตรวจสอบ ปริมาณตัวยา ที่ทำให้เกิดพิษและการก่อมะเร็ง ขั้นตอนต่อไปเป็นการเตรียมรูปแบบยาที่เหมาะสม เช่น ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาเม็ดเคลือบฟิล์ม ยาฉีด ยาน้ำ ฯลฯ เพื่อให้ยามีความคงสภาพในการรักษาและสามารถผลิตในขั้นอุตสาหกรรม แล้วจึงทดสอบ ประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาทางคลินิกในมนุษย์ เพื่อให้มั่นใจว่า ยามีประสิทธิภาพดี และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ระยะสุดท้ายจะเป็นการตรวจติดตามความปลอดภัยของผู้ป่วยหลังจากนำยาออกจำหน่ายในท้องตลาด เพื่อยืนยันประสิทธิผลของยา ในข้อบ่งใช้ใหม่ที่ได้รับอนุมัติและวิเคราะห์ข้อมูลด้านความปลอดภัยในระยะยาว
ในประเทศไทย สันนิษฐานกันว่า "ยาแผนปัจจุบัน" หรือแต่เดิมเรียกว่า "ยาฝรั่ง" นำเข้ามาโดยมิชชันนารีชาวโปรตุเกส ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒) และเริ่มใช้จริงจังจากยารักษาอหิวาตกโรค ของนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ (Dr.Dan Beach Bradley) หรือที่คนไทยเรียกขานว่า "หมอบรัดเล" ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "โรงศิริราชพยาบาล" ใน พ.ศ. ๒๔๓๑ ที่วังหลัง จังหวัดธนบุรี เปิดบริการให้การรักษาประชาชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายด้วยยาไทยและยาฝรั่งที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร (หมอเวชชศิษย์) เป็นผู้ทรงปรุงยา
กระบวนการผลิตยาต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบความปลอดภัยอย่างสูง เพื่อนำยามาใช้อย่างปลอดภัย
เมื่อมีการใช้ยาแผนปัจจุบันมากขึ้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีช จึงติดต่อ ฮูโก วิลเลียมส์ (Hugo Williams) นักเคมีชาวเยอรมัน มาเป็นผู้ปรุงยาในโรงงานผลิตยาแห่งแรกของรัฐบาล ชื่อว่า "เทพศิรินทรพยาบาล" เปิดทำการวันแรก เมื่อวันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ต่อมาเปลี่ยนไปใช้ชื่อว่า โอสถศาลารัฐบาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนไทยใช้ฝึกหัดทำยา จนหลายคน มีความชำนาญไปเป็นอาจารย์สอนปรุงยาแผนกแพทย์ผสมยา ที่โรงเรียนฝึกหัดวิชาแพทย์ ณ โรงศิริราชพยาบาล โดยคนไทยคนแรก ที่ทำการสอนในแผนกแพทย์ผสมยาและเป็นเภสัชกรแผนปัจจุบันคนแรกของประเทศไทย คือ หลวงเภสัชกิจโกศล
องค์การเภสัชกรรมทำหน้าที่ผลิตยาและวัคซีน สำหรับจำหน่าย ให้แก่หน่วยงานราชการและประชาชน
ใน พ.ศ. ๒๔๗๗ ดร.ตั้ว ลพานุกรม ให้สร้างโรงงานเภสัชกรรมขึ้น เพื่อผลิตยาและวัคซีน สำหรับจำหน่ายให้แก่หน่วยงานราชการ และประชาชน ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ขยายเป็น "องค์การเภสัชกรรม" สังกัดกระทรวงสาธารณสุข นับจากนั้นจนถึง พ.ศ. ๒๕๔๕ ประเทศไทยมีโรงงานผลิตยาแผนโบราณ จำนวน ๒๗๓ แห่ง ซึ่งสามารถผลิตยาสมุนไพร ทั้งในรูปแบบแผนโบราณ และรูปแบบที่ทันสมัย ใช้สะดวก มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพรแผนปัจจุบันตามบัญชียาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่น ชุมเห็ดเทศ ขมิ้นชัน ฟ้าทะลายโจร พญายอ ไพล ส่วนโรงงานผลิตยาแผนปัจจุบัน มีจำนวนมากถึง ๑๗๔ โรงงาน ที่ผลิตยาแผนปัจจุบันใช้ภายในประเทศ และส่งออกไปจำหน่ายหลายประเทศ เช่น เวียดนาม กัมพูชา พม่า เบลเยียม มาเลเซีย การค้นพบและการพัฒนายาจึงมีความสำคัญต่อการแพทย์และ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย
การพัฒนายามีความสำคัญต่อการแพทย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
การเริ่มต้นใหม่ของการวิจัยสาเหตุ การรักษา และป้องกันโรค นำไปสู่ศักยภาพที่นักวิจัยกำลังค้นหายาในการช่วยผู้ป่วยมากมาย ที่รอความช่วยเหลือในหนทางใหม่ๆ ดังนั้น เพื่อให้อุตสาหกรรมยาระดับสากลที่มีอยู่หรือเกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนายาใหม่ๆ มีประสิทธิภาพและคุณภาพมาตรฐานสากลเทียบเท่านานาชาติ บริษัทอุตสาหกรรมยาจึงร่วมมือกันก่อตั้ง สมาคมผู้วิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์ (PReMA: Pharmaceutical Research and Manufacturers Association) ในวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ โดย เฮนรี อาร์. โคเซ็ค (Henry R. Koczyk) และเลียวนาร์ด ชาน (Leonard Chan) เพื่อส่งเสริม และผลักดันการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยารูปแบบใหม่ โดยเน้นการวิจัยและการพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยี