เมื่อพูดถึงคำว่า "รังสี" เชื่อว่าทุกคนคงรู้จัก เพราะมีการพูดถึงให้ได้ยินหรือได้อ่านอยู่เสมอ เช่น รังสีความร้อน รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีเอกซ์ รังสีคอสมิก การที่เรารู้จักเพราะมีคำว่า "รังสี" กำกับอยู่ แต่เชื่อหรือไม่ว่ายังมีสิ่งอื่นๆ อีก ที่เราคิดว่า ไม่ได้เป็นรังสี เพราะไม่มีสิ่งบ่งบอก หรือชื่อเรียกไม่มีคำว่ารังสีอยู่ด้วย แต่จริงๆ แล้วสิ่งนั้นเป็นรังสี เช่น แสงสว่าง ไมโครเวฟ เลเซอร์ เรดาร์ คลื่นวิทยุ-โทรทัศน์
ภายในห้องที่มีแสงสว่างและอุปกรณ์ไฟฟ้าจะมีรังสีครอบคลุมอยู่ทั่วไป
รังสี สามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท ได้แก่
ประเภทแรก มีลักษณะเป็นคลื่นที่เรียกว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยคลื่นแต่ละคลื่น จะมีความยาวคลื่นหรือความถี่คลื่น เป็นของตนเอง ซึ่งได้มีการจัดเรียงความยาวคลื่นหรือความถี่คลื่นไล่เรียงลำดับกันไป ที่เรียกว่า สเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งในแถบสเปกตรัมนี้ มีการแบ่งช่วงเรียกชื่อต่างๆ กัน ถ้าจะเรียงลำดับชื่อกลุ่มที่มีความยาวคลื่นที่ยาวหรือความถี่ต่ำ ขึ้นไปสู่ความยาวคลื่นที่สั้น หรือความถี่สูงไปเรื่อยๆ จะได้ดังนี้ คลื่นไฟฟ้า คลื่นวิทยุ เรดาร์ ไมโครเวฟ รังสีความร้อน (อินฟราเรด) แสงที่มองเห็นได้ (แสงสว่าง) รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีเอกซ์ และรังสีแกมมา สำหรับแสงเลเซอร์เป็นแสงที่มีความยาวคลื่นเดี่ยว ซึ่งผู้ผลิตจะเลือกคลื่นใดคลื่นหนึ่งในช่วงรังสีความร้อน แสงที่มองเห็นได้ รังสีอัลตราไวโอเลต โดยจะใช้ความยาวคลื่นเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ใช้
ประเภทที่ ๒ มีลักษณะเป็น กระแสของอนุภาค โดยมีชื่อเฉพาะ เช่น รังสีแอลฟา เป็นกระแสของอนุภาคแอลฟา อนุภาคแอลฟาเป็นอนุภาคที่ประกอบด้วยโปรตอน ๒ อนุภาค และนิวตรอน ๒ อนุภาค รวมอยู่ด้วยกัน รังสีบีตาเป็นกระแส ของอนุภาคบีตา อนุภาคบีตาเป็นอนุภาคที่เหมือนกับอิเล็กตรอน รังสีนิวตรอนเป็นกระแสของอนุภาคนิวตรอน รังสีคอสมิกเป็นกระแสรวมของหลายอนุภาค โดยส่วนใหญ่เป็นอนุภาคโปรตอน รองลงมาคือ อนุภาคแอลฟา นอกนั้นเป็นนิวตรอน อิเล็กตรอน รังสีแกมมา นิวเคลียสของธาตุบางธาตุจำนวนเล็กน้อย
นิวเคลียสที่ไม่เสถียรจะแผ่รังสีแอลฟา หรือรังสีบีตา และรังสีแกมมา
รังสีทั้ง ๒ ประเภทนี้จะแผ่ออกมาจากต้นกำเนิดรังสีที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ และจากต้นกำเนิดรังสีที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น มาใช้ประโยชน์
ต้นกำเนิดรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้แก่
๑) ดวงอาทิตย์ และอวกาศนอกโลก ซึ่งจะแผ่รังสีความร้อน รังสีอัลตราไวโอเลต แสงที่มองเห็นได้ คลื่นวิทยุ รังสีคอสมิก มายังโลก ทุกทิศทุกทาง โดยมีชั้นบรรยากาศของโลก กั้นรังสี พวกที่มีอันตรายมากให้เหลือน้อยลง ก่อนถึงพื้นโลก
๒) ไอโซโทปกัมมันตรังสี บางชนิดที่มีปนอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ในดิน ในน้ำ ในอากาศ ในอาหาร ฯลฯ รวมทั้งในร่างกาย ของเราทุกคน ไอโซโทปกัมมันตรังสีนี้ จะแผ่รังสีแอลฟา รังสีบีตา และรังสีแกมมาออกมาตลอดเวลา
ต้นกำเนิดรังสีที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา ได้แก่
๑) ไอโซโทปกัมมันตรังสี บางชนิดที่นักวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดขึ้น เพื่อจะนำรังสีที่แผ่ออกมาไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ทั้งการแพทย์ อุตสาหกรรม เกษตรกรรม ศึกษาค้นคว้าวิจัย ฯลฯ ตัวอย่างเช่น ผลิตโคบอลต์-๖๐ เพื่อนำรังสีแกมมาที่แผ่ออกมา ไปใช้รักษาโรคมะเร็ง ถนอมอาหาร เปลี่ยนแปลงพันธุ์พืช ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ฯลฯ ผลิตไอโอดีน-๑๓๑ เพื่อนำรังสีแกมมาไปวินิจฉัย และรักษาต่อมไทรอยด์ที่ทำงานผิดปกติ ผลิตฟอสฟอรัส-๓๒ เพื่อนำรังสีบีตามาเป็นตัวบ่งชี้ว่า ปุ๋ยเคลื่อนที่ไปที่ส่วนไหนของพืช ผลิตอิริเดียม-๑๙๒ เพื่อนำรังสีแกมมาตรวจสอบรอยเชื่อมโลหะว่าเชื่อมได้สนิทหรือไม่
การนำรังสีจากเครื่องฉายรังสีเอกซ์ไปใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์
๒) เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องฉายรังสีเอกซ์ที่ผลิตรังสีเอกซ์ เพื่อใช้ในทางการแพทย์และอุตสาหกรรม เครื่องส่งวิทยุ-โทรทัศน์ที่ผลิตคลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ เพื่อความบันเทิง เครื่องเรดาร์ที่ผลิตคลื่นเรดาร์ เพื่อตรวจวัดการเคลื่อนที่ ของเครื่องบิน เครื่องเลเซอร์ที่ผลิตแสงเลเซอร์ เพื่อใช้ในทางการแพทย์ เครื่องไมโครเวฟที่ผลิตคลื่นไมโครเวฟสำหรับอุ่นอาหาร เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ผลิตรังสีนิวตรอน เพื่อก่อให้เกิดปฏิกิริยาการแบ่งแยกนิวเคลียส นำไปสู่การได้พลังงานความร้อน ทำให้น้ำ กลายเป็นไอไปหมุนเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า หรือใช้นิวตรอนไปทำให้เกิดไอโซโทปกัมมันตรังสี นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ และอุปกรณ์บางอย่างที่สร้างขึ้นมา เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ผลจากการใช้สิ่งนั้นมีรังสีแผ่ออกมา เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ จอภาพคอมพิวเตอร์ที่ใช้หลอดภาพ การเชื่อมโลหะ หลอดไฟฆ่าเชื้อ โทรศัพท์มือถือ
ผู้เชื่อมโลหะจะได้รับรังสีมากกว่าปกติ
รังสีทุกชนิดเมื่อมากระทบร่างกายของคนเรา จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอะตอมที่เป็นองค์ประกอบของเซลล์ ถ้าจำนวนอะตอม มีการเปลี่ยนแปลงมาก จะทำให้เซลล์นั้นผิดปกติ และถ้าจำนวนเซลล์ผิดปกติมาก จะทำให้อวัยวะนั้น ทำงานผิดปกติไปด้วย ซึ่งมีผลเสียก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ อย่างไรก็ตาม อันตรายที่จะเกิดขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับชนิดของรังสี พลังงานของรังสี ปริมาณของรังสีที่ได้รับ และอวัยวะของร่างกายที่ได้รับรังสี ถ้าเป็นรังสีที่มีพลังงานต่ำ เช่น รังสีความร้อน รังสีอัลตราไวโอเลต เลเซอร์ มีอำนาจในการทะลุทะลวงน้อย สิ่งผิดปกติเกิดที่ผิวหนัง เช่น ผื่นแดง ถ้าได้รับรังสีนานๆ ผิวหนังจะเหี่ยวย่น และเกิดมะเร็งผิวหนังได้ นอกจากนี้ยังมีที่ตา ทำให้กระจกตาและเยื่อบุตาอักเสบ มีอาการปวดแสบตา แต่ถ้าเป็นรังสีที่มีพลังงานสูง มีอำนาจในการทะลุทะลวงมาก เช่น รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา จะไปก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะภายในได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัย ต้องรู้จักป้องกันตัวเราเองไม่ให้ได้รับรังสีเกินระดับที่ถือว่าปลอดภัย เช่น กางร่มไม่ให้ถูกแสงแดดมาก ไม่จ้องมองดวงอาทิตย์หรือประกายไฟจากการเชื่อมโลหะด้วยตาเปล่า ไม่เข้าใกล้เครื่องกำเนิดรังสีต่างๆ