เล่มที่ 38
แก้วมังกร
เล่นเสียงเล่มที่ 38 แก้วมังกร
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            การรณรงค์ให้ประชาชนรับประทานผักและผลไม้วันละ ๕ สี คือ เขียว ม่วง แดง ขาว เหลือง สีละ ๑ หน่วยบริโภค หน่วยบริโภคละ ๑๐๐-๑๕๐ กรัม จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหลายชนิด ทำให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งเป็นผลดีต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจของชาติ นับว่าโชคดีที่ประเทศไทยได้นำพืชชนิดใหม่ที่มีชื่อเดิมว่า "ดราก้อนฟรุต" (dragon fruit) มาปลูก เป็นไม้ผลของไทย โดยเริ่มปลูกเป็นอาชีพที่จังหวัดชลบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๐ ต่อมามีการตั้งชื่อภาษาไทยว่า "แก้วมังกร"

            สีของเนื้อแก้วมังกรขึ้นอยู่กับพันธุ์ เช่น สีขาว สีแดงเข้มอมม่วง (margenta) หรือ สีชมพู พันธุ์พิ้งกี้ช้อยซ์ (PINKY CHOICETM) ซึ่งเป็นลูกผสมพันธุ์ใหม่ที่ถือกำเนิดในประเทศไทย ทั้งนี้ ล้วนสนองต่อโครงการรณรงค์รับประทานผักและผลไม้ ๕ สีดังกล่าว นอกจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการเหมือนผักและผลไม้อื่นๆ แล้ว แก้วมังกรยังมีใยอาหารมาก มีสารคล้ายวุ้นเหลว และเหนียวเล็กน้อย นอกจากนี้ยังมีสารเคมีพืช (phytochemical) ซึ่งบรรเทาและป้องกันอาการท้องผูก ช่วยควบคุม และลดน้ำหนักตัว บรรเทาอาการของโรคเบาหวานประเภท ๒ ลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นอาหารจำพวก พรีไบโอติกส์ (prebiotics) ช่วยขับพิษโลหะหนัก ลดความดันโลหิต และลดไขมันในเส้นเลือด รวมทั้งป้องกันโรคหัวใจ โรคเส้นเลือดหัวใจ และภาวะเซลล์สมองเสื่อม เป็นต้น แก้วมังกรดูเหมือนมีคุณสมบัติที่หลากหลาย ซึ่งเราควรใช้วิจารณญาณ ด้วยตัวเองว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ปัจจุบันเชื่อกันว่า แก้วมังกรเป็นผลไม้เพื่อสุขภาพอันดับต้นๆ ที่ทั่วโลกให้ความสนใจ ศึกษาวิจัยกันอย่างจริงจัง

            แก้วมังกรมีผลิตผลระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ยกเว้นผลทะวายซึ่งมีการผลิตนอกฤดู ปกติมีการรับประทานแก้วมังกร เป็นผลไม้สด ทำน้ำผลไม้ ผลไม้รวมมิตร ไอศกรีมกะทิ เป็นสลัดผลไม้ สลัดผัก เป็นต้น นอกจากรับประทานเป็นผลไม้แล้ว ยังสามารถนำดอกตูมมานึ่งและรับประทานกับน้ำพริกต่างๆ ได้อร่อยอีกด้วย


            ประเด็นที่กล่าวมาสำคัญมาก เพราะเป็นการสนับสนุนให้เกิดการซื้อ มีการบริโภค ส่งผลให้ประชาชนของชาติในอนาคต มีสุขภาพพลานามัยดี เกิดความต้องการแก้วมังกร ซึ่งกระตุ้นให้เกิดภาคการผลิตขึ้น ทั้งนี้ ต้องเป็นการผลิตตามการปฏิบัติที่ดี ทางการเกษตร ให้ผลิตผลได้มาตรฐานของโคเด็กซ์ (Codex) เพื่อให้มีความปลอดภัยของอาหาร และบรรเทาสภาวะ "ความร้อนขึ้นของโลก" หรือ "โลกร้อนขึ้น" ไม่ใช่สภาวะโลกร้อนธรรมดาที่เข้าใจกัน

            แก้วมังกรมีถิ่นกำเนิดทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก กัวเตมาลา คอสตาริกา และประเทศรอบข้าง ประเทศดังกล่าว เรียกผลไม้ชนิดนี้ว่า pitaya (พิไทอา) หรือ pitahaya (พิทาไฮอา) เป็นกระบองเพชรเลื้อย ลำต้นสีเขียว ๓ แฉก มองไกลๆ ดูคล้าย งูสามเหลี่ยม เป็นไม้ผลที่ชอบอากาศร้อน แต่ไม่ร้อนจัดหรือหนาวเย็นเกินไป ชอบดินร่วน ระบายน้ำดี เป็นพืชวันยาว ทำให้ไม่มีผลิตผลในช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน


ต้นแก้วมังกรที่กำลังออกดอกและติดผล

            ชาวฝรั่งเศสได้นำแก้วมังกรมาปลูกในประเทศเวียดนามมากกว่า ๑ ศตวรรษแล้ว ดังนั้น คนจำนวนมากจึงเข้าใจผิดว่า แก้วมังกรมีถิ่นกำเนิดในประเทศเวียดนาม พันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาในระยะหลังก็ถือกำเนิดที่ประเทศนี้ ส่วนพันธุ์พิ้งกี้ช้อยซ์ เป็นพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี

            ปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนไทยปลูกแก้วมังกรมาเป็นระยะเวลา ๑๕ ปี ด้วยความขยัน วิริยอุตสาหะ ประกอบกับความสามารถ ของชาวสวนและการสนับสนุนจากนักวิชาการเกษตร ที่ได้ร่วมกันพัฒนาจนแก้วมังกรของประเทศไทยมีคุณภาพดี เป็นที่ยอมรับ ของผู้บริโภค ทั้งภายในและภายนอกประเทศ อย่างไรก็ดี เกษตรกรผู้ผลิตและผู้ค้ายังต้องการความช่วยเหลือด้านวิชาการ เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่ ต่อหลักปลูก หรือต่อต้นจำนวนเพิ่มมากขึ้น มีการสูญเสียน้อย มีประสิทธิภาพในการผลิตดี และให้ผลิตผลแก้วมังกรที่มีคุณภาพดีได้มาตรฐานของไทยและมาตรฐานของโคเด็กซ์ ซึ่งเป็นมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ


แปลงปลูกแก้วมังกรที่ได้มาตรฐาน ระยะห่างระหว่างหลักประมาณ ๓ เมตร

            ต้นแก้วมังกรเป็นไม้เลื้อย ต้องมีหลักและร้านเล็กๆ ด้านบน โดยปลูกหลักละ ๓-๔ ต้น ระยะระหว่างหลักประมาณ ๓ เมตร ระหว่างแถว ๓.๕๐ เมตร แปลงปลูกควรยกสูง ๖๐ เซนติเมตร ระหว่างแปลงเป็นร่องระบายน้ำกว้าง ๕๐ เซนติเมตร และลึกเท่ากัน หลุมปลูกมีขนาด ๓๐x๓๐ ตารางเซนติเมตร และลึก ๓๐ เซนติเมตร ทั้งนี้ ดินในหลุมให้ผสมปุ๋ยหมักและแกลบดำอย่างละประมาณ ร้อยละ ๕ นำต้นพันธุ์ลงปลูก โดยกลบดินคลุมโคนรากบนสุดไม่เกิน ๓ เซนติเมตร

            หลังปลูกต้องดูแลรักษาต้นอ่อนให้ปลอดภัยจากการทำลายของมด หากไม่มีฝนควรให้น้ำทุก ๕-๗ วัน คอยระวังไม่ให้ดินแฉะ หรือแห้งเกินไป เมื่อต้นสมบูรณ์ดี อายุเกิน ๖ เดือน และอยู่ในช่วงกลางวันยาว แก้วมังกรก็เริ่มให้ดอกและติดผล ซึ่งจากระยะตุ่มดอก จนเก็บเกี่ยวผลแก่ได้ ใช้เวลาประมาณ ๕๐ วัน


แก้วมังกรเริ่มผลิดอก แล้วเจริญเติบโตจนเป็นผลแก่ที่จะเก็บเกี่ยวได้

            การปลูกแก้วมังกรทำได้ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่าย โดยมีข้อจำกัดต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว รวมทั้งศัตรูพืชทั้งหลาย โดยเฉพาะโรค ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญมาก นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาเรื่องต้นพันธุ์และแหล่งปลูก ซึ่งต้องศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน ทั้งจากบุคคล และแหล่งที่เชื่อถือได้ อย่าได้หลงเชื่อคำโฆษณา ซึ่งมักจะกล่าวอ้างแต่เรื่องดีๆ โดยไม่กล่าวถึงข้อด้อยเลย

            แก้วมังกรเป็นผลไม้ฉ่ำน้ำ จึงช้ำและเน่าเสียง่าย ต้องทะนุถนอม และนำมารับประทานหรือแปรรูปโดยเร็วภายใน ๗-๑๔ วัน การเก็บรักษาในตู้เย็นควรเก็บที่อุณหภูมิ ๘ องศาเซลเซียส
            
            ปัจจุบัน หลายๆ ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจแก้วมังกร เพราะเป็นผลไม้สุขภาพชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะคนไทยที่มีการรณรงค์ ให้รับประทานผักและผลไม้วันละ ๕ สี ดังนั้น เพื่อให้แก้วมังกรเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานดี จึงควรช่วยกันพัฒนาพันธุ์ และการผลิต ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน