บายศรีเป็นเครื่องสักการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอความเป็นสิริมงคล ซึ่งมีใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยได้รับอิทธิพล จากคติความเชื่อของพราหมณ์ อาหารประกอบในบายศรีหลายอย่างก็มาจากคติของพราหมณ์ เช่น ไข่ แตงกวา มะพร้าว
ประเภทของบายศรี
บายศรีแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ บายศรีของหลวง และ บายศรีของราษฎร
๑. บายศรีของหลวง
ใช้ในพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งจัดขึ้นในโอกาสพิเศษ หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น บายศรีของหลวงมี ๓ แบบ คือ บายศรีต้น ทำด้วยใบตอง มีลักษณะเป็นชั้น มี ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น และ ๙ ชั้น บายศรีแก้ว ทอง เงิน ประกอบด้วย พานแก้ว พานทอง พานเงิน ซึ่งมีทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ซ้อนขึ้นไปเป็นชั้นๆ ตามลำดับ และบายศรีตองรองทองขาว ทำด้วยใบตอง แต่นำไปวางบนพานโลหะขาว มี ๕ ชั้น ๗ ชั้น ใช้ในพระราชพิธีที่สำคัญมาก
๒. บายศรีของราษฎร
ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ของราษฎร มี ๒ ชนิด คือ
๑) บายศรีปากชาม
ใช้ใบตองม้วนเป็นรูปกรวย และใส่ข้าวสุกคว่ำไว้กลางชามเบญจรงค์ หรือชามที่มีลวดลายสวยงาม บนยอดกรวยมีไม้แหลม เสียบไข่ต้มสุกปอกเปลือกที่เรียกว่า ไข่ขวัญ บนยอดไข่ขวัญปักดอกไม้ รอบกรวยประดับด้วยใบตองพับเป็นรูปแหลมเรียว ที่เรียกว่า นมแมว ซ้อนทับเหลื่อมกันเป็น ๓ ชั้น ๕ ชั้น ๗ ชั้น ๙ ชั้น จำนวน ๓ อัน และระหว่างนมแมวแต่ละอันตกแต่งด้วยใบตอง ที่ตัดหยักไปมาแบบฟันเลื่อย เรียกว่า แมงดา บนแมงดาใส่กล้วยน้ำไท แตงกวา หรือขนม เช่น ขนมต้มขาว ขนมต้มแดง ฝอยทอง พร้อมทั้งดอกไม้ธูปเทียน ๓ ชุด และมีด้ายสายสิญจน์ขนาดผูกข้อมือได้พาดไว้ตามนมแมว
๒) บายศรีใหญ่หรือบายศรีต้น
เป็นบายศรีขนาดใหญ่ ทำด้วยใบตองม้วนและพับให้เป็นยอดแหลมหลายชั้น มีแป้นไม้เป็นแกนวางซ้อนกัน ขนาดเรียวขึ้นไป ตามลำดับ บนยอดบายศรีประดับด้วยพุ่มดอกไม้ มีไม้ไผ่สีสุกผ่า ๓ ซีก พันด้วยผ้าขาวขนาบข้าง ใช้ด้ายผูก ๓ เปลาะ นำยอดใบตองอ่อน ๓ ยอด ปิดทับซีกไม้ ใช้ผ้าอย่างดีคลุมรอบบายศรีอีกชั้นหนึ่ง
การประกอบพิธีบายศรี
บายศรีปากชาม และบายศรีใหญ่หรือบายศรีต้นถือได้ว่าเป็นบายศรีของภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีบายศรีเทพ บายศรีพรหม บายศรีพรหมสี่หน้า บายศรีตอ บายศรีหลัก และบายศรีขันธ์ ๕ ส่วนในภาคอื่นๆ ของประเทศไทย คือ ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน มีบายศรีทำด้วยใบตองตามแบบของแต่ละภาค ดังนี้
ภาคเหนือ
ทางภาคเหนือเรียกบายศรีว่า ใบศรี หรือ ขันศรี ทำด้วยใบตองวางซ้อนกันเป็นชั้น มีตั้งแต่ชั้นเดียวจนถึง ๙ ชั้น ส่วนมากนิยมเลขคี่ การกำหนดชั้นของบายศรีขึ้นอยู่กับฐานันดรของผู้รับขวัญ และยึดถือคติเรื่องจำนวนชั้นของฉัตรด้วย การเรียกขวัญของภาคเหนือ ถ้าเป็นงานใหญ่มักมีขบวนแห่บายศรี ซึ่งประกอบด้วย อาหารคาว-หวาน ขบวนฟ้อน และเครื่องดนตรีพื้นเมือง
ภาคใต้
ภาคใต้ในอดีตไม่นิยมทำบายศรี แต่ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการสื่อสาร ทำให้ได้รับแบบอย่าง และอิทธิพลทางวัฒนธรรมหลากหลายมากขึ้น จึงมีบายศรีตามความเชื่อและศรัทธา ส่วนใหญ่บายศรีจะทำในพิธีต่างๆ เช่น พิธีขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย (พิธีเข้าสุหนัต) พิธีสู่ขอ พิธีรับขวัญเด็ก หรือในขบวนแห่ตามประเพณีของชาวไทยมุสลิม โดยมักใช้พานบายศรี (บุหงาซีเระ หรือบุหงาซือรี) ซึ่งเป็นการนำดอกไม้สด ใบพลู มาประดิษฐ์ในลักษณะต่างๆ หลายรูปแบบ ตั้งแต่ดั้งเดิมจนถึงสมัยใหม่ ปัจจุบันการทำบายศรีของภาคใต้มีลักษณะเป็นการผสมผสานของบายศรีภาคกลางและภาคอีสาน เข้าด้วยกัน และมีการประยุกต์ตามจินตนาการของผู้ทำบายศรี ยกเว้น ๓ จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ที่ยังคงทำบายศรีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
ภาคอีสาน
ชาวอีสานถือว่าพิธีบายศรีเป็นพิธีมงคลสูงสุดกว่าพิธีใดๆ ตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน และทำเฉพาะในเรื่องที่เป็นมงคลเท่านั้น ถ้าเป็นการทำบายศรีให้แก่คน เรียกว่า บายศรีสู่ขวัญ แต่ถ้าเป็นปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ พืช สัตว์ สิ่งของ จะเรียกว่า บายศรีสมโภช ชาวอีสานถือว่า ผู้ที่ได้รับการบายศรีสู่ขวัญเป็นผู้ที่มีเกียรติ และควรให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่ง
เครื่องประกอบบายศรี
ในพิธีทำขวัญ บวงสรวง สมโภช และไหว้ครู นอกจากตัวบายศรีแล้ว ยังมีเครื่องประกอบบายศรี เช่น ข้าว ไข่ กล้วย มะพร้าวอ่อน ดอกไม้ ธูปเทียน ขันปักแว่นเวียนเทียน เทียนชัย น้ำมันหอม พานใส่ใบพลู ตลับแป้งเจิม ด้ายผูกข้อมือ