พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดให้มีการศึกษาภาคบังคับจำนวน ๙ ปี ส่วนด้านสิทธิและหน้าที่ ทางการศึกษานั้น รัฐต้องจัดการศึกษาให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอภาคกัน ในการได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า ๑๒ ปี โดยที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
การสอบวัดผลการศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ข้อความข้างต้นแสดงว่า เยาวชนไทยจำนวนมากย่อมได้รับการศึกษาอย่างน้อยจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบกับ การที่ประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีก้าวหน้ารวดเร็วมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ในตลาดแรงงาน และการประกอบอาชีพ เยาวชนจึงต้องการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถ ในศาสตร์สาขาวิชาการ และวิชาชีพ ตามความสนใจ ความถนัด และพื้นฐานความรู้ของตน
การสอบวัดผลการศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
เมื่อนักเรียนได้เรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔-มัธยมศึกษาปีที่ ๖ ควรเริ่มวางแผนชีวิตของตนเองว่า เมื่อเรียนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว จะออกไปประกอบอาชีพตามที่ครอบครัวทำอยู่ หรือจะเรียนต่อแบบการศึกษานอกระบบ หรือมุ่งศึกษาต่อในระบบ คือ ระดับอุดมศึกษา ที่กล่าวโดยทั่วไปว่า เตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย
การสอบวัดผลการศึกษา
ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
การเตรียมตัวเข้าศึกษาต่อ ในมหาวิทยาลัย นักเรียนสามารถเลือกได้ว่า ต้องการสมัครเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ที่จำกัดจำนวนรับนักศึกษา หรือมหาวิทยาลัย ที่ไม่จำกัดจำนวนรับ ซึ่งเรียกว่า มหาวิทยาลัยเปิด หรือตลาดวิชา
เดิมการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย ใช้วิธีการสอบแข่งขัน เพื่อคัดเลือกเข้าเรียน ที่เรียกว่า การสอบเอ็นทรานซ์ (Entrance Examination) โดยจัดการสอบพร้อมกันหมด และเลือกสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยที่ต้องการตามลำดับ
การสอบวัดผลการศึกษาของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๙ กระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคัดเลือกเป็นระบบกลาง ที่เรียกว่า แอดมิสชัน (Admission) โดยให้นักเรียนที่กำลังจะจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ หรือเทียบเท่า เข้าทดสอบด้วยแบบทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ ที่เรียกว่า โอเน็ต (O-NET) เป็นการทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ ๘ กลุ่ม นักเรียนที่สมัครสอบเข้าเรียนบางสาขาวิชาอาจต้องสอบเอเน็ต (A-NET) ซึ่งเป็นการทดสอบวัดความรู้ความสามารถชั้นสูงในบางวิชา คะแนนจากการทดสอบดังกล่าวนี้ นำมาคิดรวมกับคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อพิจารณารับเข้าศึกษา ในมหาวิทยาลัยและสาขาวิชาที่นักเรียนประสงค์จะเข้าเรียน หลังจาก พ.ศ. ๒๕๔๙ การสอบเอเน็ตได้ถูกยกเลิก
การฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาสาขาคหกรรมศาสตร์ ในระดับอุดมศึกษา
นอกจากการทดสอบโอเน็ต (O-NET) และเอเน็ต (A-NET) แล้ว การพิจารณารับนักศึกษา ยังมีการนำผลคะแนนการทดสอบ ความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test: GAT) ที่เรียกกันว่า คะแนนทดสอบแก็ต เพื่อวัดความสามารถในการอ่าน เขียน ภาษาไทย การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความถนัดพื้นฐานในการเรียนระดับอุดมศึกษา มาใช้พิจารณาด้วย
การเรียนการสอนของคณะต่างๆ
ในระดับอุดมศึกษา
การทดสอบอีกประเภทหนึ่ง ที่ใช้สำหรับวัดความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ ซึ่งเป็นความถนัดเฉพาะทางที่ตรงกับศาสตร์ ในคณะที่นักเรียนต้องการศึกษาต่อ เรียกว่า แบบทดสอบแพ็ต (Professional Aptitude Test: PAT) ใช้ร่วมกับคะแนนแก็ต (General Aptitude Test: GAT) ใน พ.ศ. ๒๕๕๓ มีการทดสอบความถนัดเฉพาะทางใน ๑๒ วิชา คือ ความถนัดทางคณิตศาสตร์ ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ ความถนัดทางวิชาชีพครู ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ ความถนัดในการเรียนภาษาต่างประเทศ (นอกจากภาษาอังกฤษ ซึ่งทดสอบแล้ว ในแบบวัดความถนัดทั่วไป) ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษาอาหรับ ภาษาบาลี
มหาวิทยาลัยเปิดสอนศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ แบ่งเป็นกลุ่มวิทยาการได้ ๔ กลุ่ม คือ สาขามนุษยศาสตร์ มีคณะวิชาที่เปิดสอน เช่น คณะอักษรศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ มีคณะวิชาที่เปิดสอน เช่น คณะศึกษาศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มีคณะวิชาที่เปิดสอน เช่น คณะแพทยศาสตร์ คณะเภสัชกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีคณะวิชาที่เปิดสอน เช่น คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกสารของแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีข้อมูลที่เกี่ยวกับคณะวิชาที่เปิดสอน และคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าศึกษา ซึ่งผู้สนใจสามารถสืบค้นได้เสมอ
การเรียนการสอนของคณะต่างๆ ในระดับอุดมศึกษา
การศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้น นิสิตนักศึกษาต้องมีความรับผิดชอบในการศึกษาค้นคว้าและฝึกปฏิบัติด้วยตนเอง นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน การแสวงหาความรู้ในบริบทของสังคมและสภาพแวดล้อม ช่วยให้ได้รับประสบการณ์ตรง เกิดประโยชน์ในการประยุกต์ทฤษฎีและหลักการของศาสตร์สาขานั้นๆ กระบวนการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในมหาวิทยาลัย ย่อมทำให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพและคุณธรรม สมกับศักดิ์และสิทธิ์ของปริญญาบัตรอย่างสมบูรณ์