คนเราอาจเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์ได้หลายโรค ส่วนมากมีอันตรายถึงชีวิตได้ถ้ารักษาไม่ทัน หรือรักษาไม่ถูกต้อง เช่น โรคพิษสุนัขบ้า มาลาเรีย กาฬโรค ไข้หวัดนก ไข้เลือดออก รวมทั้งโรคฉี่หนูซึ่งเป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิต เช่นเดียวกับโรคที่กล่าวมาข้างต้น และยังเป็นโรคจากสัตว์เป็นพาหะที่เกิดบ่อยที่สุด โดยมีสัตว์ที่เป็นพาหะประมาณ ๑๖๐ ชนิด เพราะมีการติดต่อกันได้ระหว่างสัตว์ชนิดต่างๆ และจากสัตว์สู่คน แต่โดยทั่วไปไม่ติดต่อจากคนสู่คน ยกเว้นเชื้ออาจผ่านเข้าสู่ทารกในครรภ์ หรือทารกติดเชื้อจากการดูดน้ำนมมารดาที่เป็นโรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูมีชื่อว่า เลปโทสไปโรซิส การติดต่อของโรคมี ๒ แบบ คือ
๑. การติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเชื้อก่อโรค ในปัสสาวะหรือสิ่งที่เป็นของเหลว ที่ออกจากร่างกายของสัตว์ที่เป็นพาหะ เช่น เลือด น้ำลาย น้ำนม ซึ่งมีทั้งสัตว์กัดแทะและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม หรือถูกสัตว์ที่เป็นพาหะกัด
๒. การติดต่อโดยอ้อม จากการสัมผัสกับแหล่งน้ำ หรือดิน หรือโคลนที่เปียกชื้น ที่มีเชื้อจากปัสสาวะและของเหลวอื่นๆ ซึ่งมีเชื้อก่อโรคฉี่หนู เชื้อสามารถเข้าทางผิวหนัง เยื่อบุอวัยวะต่างๆ เช่น ตา จมูก ปาก รวมทั้งการรับประทานอาหารดิบ ที่ปนเปื้อนเชื้อ ดื่มหรือสำลักน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ
โรคฉี่หนูมีเชื้อโรคมากกว่า ๒๕๐ ชนิด บางสายพันธุ์ยังไม่พบรายงานว่าก่อให้เกิดโรคในคน บางสายพันธุ์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกในวัวควาย บางสายพันธุ์ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกในหนูแฮมสเตอร์ สิ่งที่น่ากลัวคือ ผู้ได้รับเชื้อโรคฉี่หนูไม่ทราบว่า มีเชื้อโรคนี้ เข้าสู่ร่างกาย เพราะขณะเชื้อไชเข้าตามผิวหนังที่เป็นแผล หรือเยื่อบุจะไม่รู้สึกคัน หรือเจ็บปวด ไม่มีบาดแผลหรือรอยให้เห็น จึงควรระวังไม่ให้เชื้อก่อโรคเข้าสู่ร่างกาย หากจำเป็นต้องทำกิจกรรมที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ต้องไปดำนาในที่น้ำท่วม ควรสวมรองเท้าบูต หรือใช้ถุงพลาสติกหนาๆ สวมทับรองเท้า ถ้ามีอาชีพที่ต้องสัมผัสสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ เช่น สัตวแพทย์ คนรีดนม คนเพาะเลี้ยงสัตว์ หรือแม้แต่ไปเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในช่วงที่มีโอกาสเป็นโรคนี้สูง เช่น เล่นน้ำในทะเลสาบหรือลำคลอง นอนในป่า แม้แต่การตะลุยป่า โดยใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ต้องหาทางป้องกันโดยวิธีต่างๆ ระวังไม่ให้เป็นแผลตามผิวหนัง เพราะมีโอกาสที่เชื้อก่อโรคจะไชเข้าร่างกายสูงกว่าผิวหนังที่ไม่มีแผล ระวังไม่ให้ของเหลวที่มีเชื้อก่อโรคถูกเยื่อบุต่างๆ ใช้สิ่งป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำ ของเหลว หรือดินโคลนที่อาจมีเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ตา ปาก จมูก หู เช่น ใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด สวมรองเท้าบูต สวมถุงมือยาง ใส่แว่นตา ใส่หน้ากาก หรือพันผ้าที่ใบหน้า และลำคอ แม้แต่อยู่ในบ้านก็ระวังอย่าให้สัตว์เลี้ยงกัด หรือถูกของเหลวจากสัตว์ ถ้าสงสัยว่า สัตว์นั้นจะเป็นพาหะ ควรทำความสะอาดผิวหนังด้วยสบู่ทันทีที่สัมผัสของเหลวจากสัตว์เลี้ยง
เมื่อคนได้รับเชื้อโรคฉี่หนูแล้ว บางคนไม่แสดงอาการ บางคนมีอาการเล็กน้อยหายเองได้ บางคนมีอาการรุนแรง เช่น เป็นไข้เฉียบพลัน และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ตาแดง ต้องรีบพบแพทย์ เพราะเชื้อมีผลทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ รวมทั้งการทำงานผิดปกติของอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ไต ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อหัวใจ และระบบการไหลเวียนของเลือด ระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ซึ่งต้องรักษาไปตามอาการ ผู้ที่มีอาการรุนแรง และรักษาไม่ทัน มักเสียชีวิตภายใน ๒๔ - ๗๒ ชั่วโมง สาเหตุการตาย คือ เลือดออกในปอด ไตวายเฉียบพลัน การล้มเหลวของอวัยวะหลายอย่าง ระบบการหายใจล้มเหลว การช็อกที่แก้ไขไม่ได้
บริเวณทุ่งนาที่มีน้ำท่วมขัง หรือในดินโคลนอาจมีเชื้อก่อโรคฉี่หนู