เล่มที่ 34
ปริศนาคำทายของไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 34 ปริศนาคำทายของไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ปริศนา คือ ถ้อยคำหรือรูปภาพที่แต่งหรือประดิษฐ์ขึ้นมาให้มีเงื่อนงำ - ความหมายแฝง ที่ผู้ทายต้องมีความรู้รอบตัว และมีเชาวน์ไวไหวพริบในการตีความจนสามารถทายปริศนานั้นได้ ปริศนาที่เป็นข้อความมักขึ้นต้นว่า "อะไรเอ่ย" แล้วตามด้วยถ้อยคำที่คล้องจองกัน ผู้ตอบต้องสามารถคิดเชื่อมโยง และมีความสามารถในการใช้ภาษา จึงจะโต้ตอบเล่นทายปริศนากันได้สนุก

            การเล่นทายปริศนามีมานานนับตั้งแต่สมัยกรีกจนถึงปัจจุบัน และมีอยู่ในประเทศต่างๆ การทายปริศนาเน้นการฝึกสมอง และความสนุกสนาน และเป็นกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในกลุ่ม

            คนไทยนิยมเล่นทายปริศนากันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบัน นอกจากผู้ถามต้องมีความสามารถทางการคิด และการใช้ภาษาแล้ว ยังต้องมีความเข้าใจ ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอีกด้วย ปริศนาคำทายคำตอบเดียวอาจใช้ภาษาถิ่น และสำนวนที่แตกต่างกัน ในแต่ละท้องถิ่น ปริศนาคำทายในแต่ละภาคจึงมีลักษณะเฉพาะตามประเพณี ความเชื่อ และธรรมชาติแวดล้อมในภูมิภาคนั้นๆ

            ปริศนาคำทายแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ แบ่งตามเนื้อหา และแบ่งตามรูปแบบ
            
๑. การแบ่งปริศนาคำทายตามเนื้อหา 

            เป็นการแบ่งโดยพิจารณาว่า ข้อความและคำเฉลยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม มนุษย์ สัตว์ สิ่งของ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ดังตัวอย่าง เช่น

เนื้อหาเกี่ยวกับ สิ่งแวดล้อม

อะไรเอ่ย   สูงเยี่ยมเทียมฟ้า  ต่ำกว่าหญ้านิดเดียว 
(เฉลย : ภูเขา)


เนื้อหาเกี่ยวกับ สัตว์

อะไรเอ่ย    สี่คนหาม  สามคนแห่  สองคนพัด  คนหนึ่งปัดแส้    
(เฉลย  :  ช้าง ๔ ขา   งวงงา   หู   หาง)


เนื้อหาเกี่ยวกับ พืช

อะไรเอ่ย    ต้นเท่าขา  ใบวาเดียว          (เฉลย : ต้นกล้วย)
                  ต้นเท่าแขน  ใบแล่นเสี้ยว     (เฉลย : ต้นอ้อย)
                  ต้นเท่าครก  ใบปรกดิน           (เฉลย : กอตะไคร้)