เล่มที่ 34
พายุและฝนในประเทศไทย
เล่นเสียงเล่มที่ 34 พายุและฝนในประเทศไทย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนใกล้เส้นศูนย์สูตร ซึ่งในบริเวณที่ตั้งดังกล่าวนี้ เกิดปรากฏการณ์ทางอุตุนิยมวิทยาเกี่ยวกับพายุ และฝน ที่ค่อนข้างรุนแรงหลายอย่าง เราควรทราบสาเหตุของการเกิดปรากฏการณ์ และผลที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์นั้นๆ โดยอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ หัวข้อใหญ่ๆ คือ พายุฝนฟ้าคะนอง พายุฤดูร้อน และพายุหมุนเขตร้อน

พายุฝนฟ้าคะนอง  

            เกิดจากพื้นโลกได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์เป็นจำนวนมาก ทำให้อากาศที่ปกคลุมพื้นดินลอยตัวขึ้นสูง เมื่ออากาศลอยตัวขึ้น ทำให้อุณหภูมิของอากาศลดต่ำลง ไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศจึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ หากการกลั่นตัวอยู่ในระดับไม่สูงจากพื้นดินมากนัก เรียกว่า หมอก หากการกลั่นตัวอยู่ในระดับสูงขึ้นไปในท้องฟ้า เรียกว่า เมฆ
            
            หากอากาศที่ลอยตัวสูงขึ้นไปนั้นมีความชื้นสูง เช่น อากาศที่ปกคลุมเหนือทะเลและมหาสมุทรในเขตร้อน การลอยตัวของอากาศก็จะยิ่งสูงมากขึ้น ดังนั้น เมฆที่เกิดจากการกลั่นตัวของไอน้ำจึงมีขนาดใหญ่ และมีความสูงจากฐานเมฆมาก ในบางครั้งยอดเมฆอาจสูงถึง ๑๐ - ๑๘ กิโลเมตร เรียกเมฆชนิดนี้ว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส” ดังนั้น ถ้าเราเห็นเมฆคิวมูโลนิมบัสปรากฏอยู่ในท้องฟ้า ก็สันนิษฐานได้ว่า อาจเกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ในไม่ช้า

            นอกจากการลอยตัวของอากาศเนื่องจากได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์แล้ว การพัดเข้าหากันของมวลอากาศจากบริเวณ ๒ แห่ง ก็อาจก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองขึ้นได้ เช่น บริเวณที่ลมค้าจากซีกโลกเหนือพัดมาพบกับลมค้าจากซีกโลกใต้ หรือบริเวณที่ลมหนาวจากเขตหนาวมาพบกับลมร้อนหรือลมอุ่นในเขตร้อน การที่ลม ซึ่งมีสมบัติแตกต่างกันทางด้านอุณหภูมิ หรือความชื้น พัดเข้าหากัน ย่อมก่อให้เกิดการยกตัวของอากาศ และเกิดเป็นพายุฝนฟ้าคะนองได้เช่นกัน

            เมื่อเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง อาจมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ทั้งนี้ ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่า เกิดจากการถ่ายเทของประจุไฟฟ้า ที่ต่างขั้วกัน ภายในเมฆที่ก่อให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองนั้น โดยอาจเกิดขึ้นภายในเมฆก้อนใดก้อนหนึ่ง หรือจากเมฆก้อนหนึ่งไปสู่เมฆอีกก้อนหนึ่ง หรือจากเมฆลงสู่พื้นโลก หากการถ่ายเทของประจุไฟฟ้า ทำให้เกิดเป็นแสงขึ้นในท้องฟ้า ก็เป็นฟ้าแลบ แต่ถ้าเกิดเป็นเสียง ก็เป็นฟ้าร้อง และถ้าประจุไฟฟ้าเคลื่อนที่ลงสู่พื้นดิน ก็เป็นฟ้าผ่า


ลูกเห็บเกิดจากการสะสมตัวของเกล็ดน้ำแข็งเป็นชั้นๆ 

พายุฤดูร้อน 

            เป็นฝนฟ้าคะนองที่เกิดในช่วงการเปลี่ยนฤดู จากฤดูหนาวไปสู่ฤดูร้อน และช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน มักเกิดในบริเวณประเทศไทยตอนบน เวลาเกิดจะมีลมกระโชกแรง และบางครั้งมีลูกเห็บตกด้วย ลูกเห็บเกิดจากผลึกน้ำแข็งในเมฆถูกกระแสลมพัดพาขึ้นลงภายในก้อนเมฆนั้นหลายๆ ครั้ง ทำให้เกล็ดน้ำแข็งพอกพูนกันเป็นชั้นๆ หนาขึ้นตามลำดับ มีลักษณะเหมือนชั้นของหัวหอม

            ลูกเห็บโดยทั่วไปมีขนาดเท่าลูกหินที่เด็กในสมัยก่อนเคยเล่นกัน แต่บางครั้งอาจมีขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางหลายเซนติเมตร เมื่อตกลงมาสู่พื้นดิน หากตกลงบนหลังคาบ้านจะทำให้กระเบื้องหลังคาแตกเป็นรู หรือหักออกจากกัน และหากตกในสวน หรือไร่นา ก็ทำให้พืชผลการเกษตรเสียหายได้

พายุหมุนเขตร้อน  

            เป็นพายุที่เกิดจากลมพัดหมุนไปรอบๆ บริเวณจุดศูนย์กลาง ซึ่งเรียกว่า “ตาพายุ”  พายุหมุนเกิดได้ทั้งในเขตอบอุ่นและเขตร้อน แต่ถ้าเกิดในเขตร้อน จะมีความรุนแรงมากกว่า ตามปกติพายุหมุนเกิดขึ้นเหนือบริเวณที่เป็นพื้นน้ำในทะเลและมหาสมุทร แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาจเคลื่อนที่เข้าสู่ฝั่งหรือบริเวณที่เป็นพื้นดิน ซึ่งถ้าเป็นพายุหมุนเขตร้อน จะทำให้เกิดพายุรุนแรง และฝนตกหนัก ทำความเสียหายได้มาก
            
            ในทางอุตุนิยมวิทยา มีการจำแนกพายุหมุนเขตร้อนออกเป็น ๔ ระดับตามกำลังแรงของพายุ คือ ระดับที่มีกำลังอ่อน เรียกว่า พายุดีเปรสชัน ระดับที่มีกำลังปานกลาง เรียกว่า พายุเขตร้อน  ระดับที่มีกำลังแรง เรียกว่า พายุเขตร้อนรุนแรง และระดับที่มีกำลังแรงมากที่สุด หากเกิดขึ้นในมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า พายุไซโคลน หากเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก เรียกว่า พายุไต้ฝุ่น และหากเกิดขึ้นในมหาสมุทรแอตแลนติก เรียกว่า พายุเฮอร์ริเคน

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย จึงได้รับอิทธิพล ทั้งพายุไซโคลนจากมหาสมุทรอินเดีย และพายุไต้ฝุ่นจากมหาสมุทรแปซิฟิก สุดแล้วแต่ว่าเป็นพายุที่เคลื่อนที่มาจากทิศทางใด


พายุหมุนเขตร้อนและระดับการพัฒนาตัวตามกำลังแรงลมที่รุนแรงเพิ่มขึ้น
๑. พายุดีเปรสชัน
๒. พายุเขตร้อน
๓. พายุไต้ฝุ่น

            หาก พายุที่เกิดขึ้นอยู่ในขั้นรุนแรงเป็นพายุไซโคลนหรือพายุไต้ฝุ่น จะทำความเสียหายได้มาก โดยมีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลายาวนาน จนเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และมีลมพัดแรงจนบ้านเรือนราษฎรเสียหาย ตลอดจนเรือที่แล่นอยู่ในทะเลหรือจอดอยู่ริมฝั่งก็อาจอับปางลงได้

            พายุหมุนเขตร้อนเมื่อเกิดขึ้นแล้ว อาจมีการเปลี่ยนแปลงระดับ จากกำลังอ่อนไปสู่กำลังปานกลาง และกำลังแรง ในทางกลับกัน ก็เปลี่ยนจากกำลังแรงเป็นกำลังปานกลาง และกำลังอ่อนได้ ดังนั้น เมื่อพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนที่ผ่านไปในประเทศใด ระดับความแรงของพายุจึงอาจเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและสถานที่ ไม่จำเป็นต้องมีความรุนแรงคงที่อยู่ตลอดไป

            ในระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เคยประสบภัยจากพายุหมุนเขตร้อนระดับปานกลาง และระดับรุนแรงมาแล้วหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ พายุเขตร้อนชื่อว่า “แฮร์เรียต” ที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากบริเวณแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปลายเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่อมา เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ได้เกิดพายุไต้ฝุ่น “เกย์” ซึ่งทำความเสียหายอย่างมาก ในพื้นที่หลายแห่ง ในจังหวัดชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ นับเป็นพายุหมุนเขตร้อน ที่ร้ายแรงที่สุด เท่าที่ประเทศไทยเคยประสบมา นับตั้งแต่ได้มีการบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับพายุหมุนเขตร้อน ที่กรมอุตุนิยมวิทยาเริ่มจัดทำขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๔ 

            เนื่องจากในแต่ละปีจะมีการเกิดพายุหมุนเขตร้อนในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกหลายสิบครั้ง ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการบันทึกข้อมูล จึงมีการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง โดยทำเป็นบัญชีรายชื่อไว้ เมื่อเกิดพายุหมุนเขตร้อนขึ้นครั้งใด ก็ใช้ชื่อตามที่อยู่ในบัญชีเรียงตามลำดับกันไป ชื่อพายุหมุนเขตร้อนเหล่านี้ ประเทศต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในเขตมหาสมุทรแปซิฟิก และได้รับอิทธิพลจากพายุดังกล่าว เป็นผู้คิดขึ้น แล้วเสนอให้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกรับรอง และจัดเข้าไว้ในบัญชีรายชื่อ ดังนั้น บางชื่อจึงเป็นชื่อในภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ภาษาไทย ภาษาลาว ภาษากัมพูชา ภาษาเวียดนาม ภาษามาเลเซีย ภาษาฟิลิปปินส์ ภาษาเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ รวมทั้งภาษาของหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ผู้ที่สนใจชื่อพายุของภาษาเหล่านี้ อาจดูรายละเอียดได้ในเนื้อหาส่วนเด็กโต