เพลงพื้นบ้าน คือ เพลงของท้องถิ่นที่ชาวบ้านจดจำสืบทอดกันมาแบบปากเปล่า ใช้ร้องเล่นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกโดยใช้ถ้อยคำที่ง่ายๆ แต่ใช้โวหารหรือการเปรียบเทียบที่คมคาย เน้นเสียงสัมผัส และจังหวะการร้องเป็นสำคัญ
ประวัติของเพลงพื้นบ้าน
จากหลักฐานสมัยอยุธยา กล่าวถึงเพลงเรือ และเพลงเทพทอง ซึ่งพบว่ามีการเล่นเป็นมหรสพสมโภชมาจนถึงสมัยธนบุรี ครั้นสมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒ เพลงพื้นบ้านที่ใช้เล่นเป็นมหรสพสมโภชในงานฉลองต่างๆ มี ๒ ชนิด คือ เพลงปรบไก่ และเพลงเทพทอง จนถึงรัชกาลที่ ๓ ปรากฏหลักฐานในวรรณคดีที่กล่าวถึงงานลอยกระทงว่า มีการเล่นสักวา เพลงครึ่งท่อน เพลงปรบไก่ และดอกสร้อย
ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ชาวบ้านนิยมเพลงแอ่วลาวกันมาก จึงทรงออกประกาศห้ามเล่นเพลงแอ่วลาว และให้ฟื้นฟูเพลงพื้นบ้านของไทย เช่น เพลงครึ่งท่อน เพลงปรบไก่ เพลงสักวา เพลงไก่ป่า เพลงเกี่ยวข้าว ในรัชกาลที่ ๕ - รัชกาลที่ ๗ เพลงพื้นบ้านยังเป็นมหรสพ ที่ได้รับความนิยมสืบเนื่องมา จนมาถึงรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ควบคุมการละเล่นพื้นบ้านและสนับสนุนการรำวงให้แพร่หลาย ทำให้เพลงพื้นบ้านดั้งเดิมค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
การร้องเล่นเพลงในสมัยรัชกาลที่ ๕
ลักษณะของเพลงพื้นบ้าน
เพลงพื้นบ้านมีลักษณะเฉพาะคือ เป็นงานของกลุ่มชาวบ้านที่สืบทอดจากปากสู่ปาก อาศัยการฟังและจำ ไม่มีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นเพลงที่ไม่มีต้นกำเนิดที่แน่นอน เนื้อร้องใช้คำ สำนวนโวหาร และความเปรียบง่ายๆ ที่ชาวบ้านใช้ ไม่มีศัพท์ยากที่ต้องแปล ส่วนทำนอง จำนวนคำ และสัมผัสไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว แต่ให้ความสำคัญกับเสียง และจังหวะการร้องมากกว่า ชาวบ้านร้องและเล่นเพลงพื้นบ้าน โดยใช้การปรบมือหรือมีเครื่องประกอบจังหวะง่ายๆ ได้แก่ กรับ ฉิ่ง กลอง บางครั้งก็ไม่ได้ใช้เครื่องดนตรีชนิดใดเลย นอกจากเสียงเอื้อน บางครั้งนำอุปกรณ์ที่ใช้ทำกิจกรรมอยู่ มาประกอบการร้อง เช่น เพลงเกี่ยวข้าวก็ใช้รวงข้าวและเคียว สิ่งสำคัญคือ การอาศัยเสียงร้องรับ ร้องกระทุ้งของลูกคู่ เพราะเพลงพื้นบ้านเน้นความสนุกสนานเป็นหลัก
เพลงรำพาข้าวสาร เป็นเพลงพื้นบ้านภาคกลาง นิยมร้องเล่นในฤดูน้ำหลาก หน้ากฐินและผ้าป่า
ประเภทของเพลงพื้นบ้าน
แบ่งออกได้หลายประเภท ได้แก่ แบ่งตามกลุ่มวัฒนธรรม โอกาสที่ร้อง จุดประสงค์ในการร้อง จำนวนผู้ร้อง ความสั้นยาวของเพลง เพศของผู้ร้อง และวัยของผู้ร้อง ในที่นี้ขอกล่าวถึงเพลงพื้นบ้านโดยแบ่งตามเขตพื้นที่เป็นภาค ๔ ภาค คือ
๑. เพลงพื้นบ้านภาคกลาง
ส่วนใหญ่เป็นเพลงที่คนหนุ่มสาวใช้ร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกัน มักร้องกันเป็นกลุ่ม หรือเป็นวง ประกอบด้วยผู้ร้องนำเพลงฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง ที่เรียกว่า พ่อเพลง แม่เพลง ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่ร้องรับ ให้จังหวะด้วยการปรบมือ หรือการใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะง่ายๆ เช่น กรับ ฉิ่ง แบ่งได้ ๕ กลุ่ม คือ
- เพลงที่นิยมร้องเล่นในฤดูน้ำหลาก หน้ากฐินและผ้าป่า และในช่วงเทศกาลออกพรรษา เช่น เพลงเรือ เพลงรำพาข้าวสาร เพลงร่อยภาษา
- เพลงที่นิยมเล่นในเทศกาลเก็บเกี่ยว เป็นเพลงที่ร้องเล่นในเวลาลงแขกเกี่ยวข้าวและนวดข้าว เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำ เพลงสงคอลำพวน เพลงสงฟาง เพลงชักกระดาน
- เพลงที่นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์ เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงพิษฐาน เพลงระบำ เพลงระบำบ้านไร่ เพลงเหย่อย เพลงเข้าผี
- เพลงที่ใช้ร้องเวลามารวมกันทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง เช่น เพลงโขลกแป้ง เพลงแห่นาคหรือสั่งนาค
- เพลงที่ร้องเล่นไม่จำกัดเทศกาล เช่น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงขอทาน เพลงสำหรับเด็ก
การแสดงหุ่นกระบอกเรื่อง สังข์ทอง ตอนนางรจนาเสี่ยงพวงมาลัย (มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤตเอื้อเฟื้อภาพ)
๒. เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ
ชีวิตของผู้คนในภาคเหนือ หรือชาวล้านนา ผูกพันอยู่กับเสียงเพลงตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มสาว จนถึงวัยชรา เพลงพื้นบ้านภาคเหนือ ที่ยังคงรู้จักและมีร้องเล่นกันอยู่บางแห่งจนถึงปัจจุบัน มี ๓ ประเภท คือ
- เพลงสำหรับเด็ก ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก (เพลงอื่อ ชา ชา) และเพลงร้องเล่น เช่น เพลงสิกก้องกอ เพลงสิกจุ่งจา เพลงร้องเล่นอื่นๆ
- จ๊อย เป็นเพลงพื้นบ้านที่เกิดจากประเพณีการพบปะพูดคุยเกี้ยวพาราสีในตอนกลางคืน เรียกว่า แอ่วสาว ร้องระหว่างที่หนุ่มๆ เดินไปเยี่ยมบ้านสาวที่หมายปองอยู่ การร้องจ๊อยเป็นการจำบทร้องและทำนองสืบต่อกันมา โดยไม่ต้องฝึกหัด อาจมีดนตรีประกอบหรือไม่มีก็ได้
- ซอ เป็นเพลงพื้นบ้านภาคเหนือที่ชายกับหญิงขับร้องโต้ตอบกัน ผู้ร้องเพลงซอ หรือขับซอ เรียกว่า ช่างซอ เริ่มจากการร้องโต้ตอบกันเพียงสองคน ต่อมา พัฒนาเป็นวงหรือคณะ และรับจ้างเล่นในงานบุญ มีดนตรีประกอบ ได้แก่ ปี่ ซึง และสะล้อ