เล่มที่ 36
เกวียน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ชนิดและลักษณะของเกวียน

            เกวียนโดยทั่วไปมีอยู่ ๒ ชนิด คือ เกวียนเทียมด้วยวัว และเกวียนเทียมด้วยควาย ซึ่งมักเรียกกันสั้นๆ ว่า เกวียนวัว และเกวียนควาย แต่จากหลักฐานเกี่ยวกับการใช้พาหนะบรรทุกลากของชาวบ้านพบว่า ยังมีพาหนะที่มีลักษณะคล้ายเกวียนอยู่อีกชนิดหนึ่ง คือ สาลี่ หรือสาลี



ส่วนเทียมวัว

ก. เกวียนวัว

มักมีขนาดเล็กและเตี้ย ส่วนของความกว้างอาจกว้างกว่าเกวียนควายเล็กน้อย ช่วงความยาวของเกวียนวัวอาจแบ่งเป็น ๒ ส่วนหลัก เท่าๆ กันโดยประมาณ  คือ

๑. ส่วนเทียมวัว อยู่ด้านหน้าของเกวียน ตั้งแต่แอกเกวียนถึงคานหน้าที่รับเรือนเกวียน
๒. ส่วนเรือนเกวียน คือ แนวตัวเรือนเกวียน ตั้งแต่คานหน้าถึงคานหลังของเรือนเกวียน

            เกวียนวัวทั้ง ๒ ส่วนมีช่วงความยาวส่วนละประมาณ ๗ คืบ รวมเป็น ๑๔ คืบ หรือ ๗ ศอก ซึ่งเป็นความยาวของเกวียนวัว ตั้งแต่แอกเกวียนไปจนถึงคานหลังท้ายเรือนเกวียนประมาณ ๓.๕๐ เมตร ส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้าเรียกว่าหัวทวก และส่วนด้านหลังเรียกว่า หางทวก ซึ่งจะยื่นยาวออกไปเท่าใดขึ้นอยู่กับช่างเกวียน แต่เกวียนทั่วไปจะมีความกว้างประมาณ ๑.๒๐ เมตร และมีความยาวประมาณ ๔.๒ เมตร


ส่วนเรือนเกวียน

            เหตุที่เกวียนวัวมีขนาดเล็กและค่อนข้างเตี้ย เพราะวงล้อของเกวียนได้สร้างให้เล็กเหมาะสมกับกำลังของวัวที่มีกำลังน้อยกว่าควาย และที่สำคัญยิ่งคือ สร้างให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นที่ดอนสูง ป่าโคก ป่าดง และพื้นที่ทางราบที่ไม่เป็นหล่มโคลนเหมือนที่ราบลุ่ม ซึ่งช่วยให้การใช้เกวียนวัวมีความคล่องตัว เช่น พื้นที่ในภาคอีสาน ภาคกลางตอนบน แต่ถ้าเป็นพื้นที่แถบภาคเหนือ วงล้อเกวียนอาจสร้างให้ใหญ่และสูงขึ้นอีกเล็กน้อย เพื่อสะดวกในการใช้ในสภาพที่สูงของภูดอย หรือในพื้นที่ต่างระดับได้ดีขึ้น


เกวียนวัว

            สำหรับพื้นที่แถบภาคกลางตอนบน เช่น จังหวัดลพบุรี สระบุรี นครสวรรค์ มีคำใช้เรียกเกวียนวัวอีกชื่อหนึ่งว่า ระแทะ (บางแห่งเพี้ยนเป็น รันแทะ หรือกระแท) หมายถึง เกวียนขนาดเล็ก ระแทะเป็นคำที่ได้รับอิทธิพลมาจากภาษาเขมร ซึ่งเรียกเกวียนว่า รอเตะฮฺ และเพี้ยนเป็น ระแทะ ตามตัวอักษรที่เขียนว่า รเทะ

ข. เกวียนควาย

            มีขนาดใหญ่ สูง และยาวกว่าเกวียนวัว เพราะควายมีขนาดใหญ่และมีกำลังลากมากกว่าวัว ดังนั้น ขนาดของแอกเทียมจึงต้องกว้างและยาว นอกจากนี้ส่วนคอของควายก็ใหญ่กว่าวัวด้วย จึงต้องเว้นส่วนเทียมควายให้มีช่วงกว้าง-ยาวมากขึ้น ทำให้ตัวเรือนเกวียนกว้างใหญ่ตามไปด้วย โดยเฉพาะล้อเกวียนควาย ที่ทำวงกว้างเป็นล้อขนาดใหญ่ ทำให้เกวียนสูงใหญ่และมีน้ำหนักมาก แต่กำลังของควายที่ใช้เทียมแม้มีเพียง ๒ ตัว ก็สามารถลากสิ่งของที่บรรทุกได้ จึงเหมาะกับสภาพภูมิประเทศที่เป็นที่ราบลุ่ม หรือมีหล่มโคลน ซึ่งเกวียนมีโอกาสติดหล่มได้มาก เช่น พื้นที่แถบที่ราบภาคกลางตอนล่าง รวมทั้งภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และปราจีนบุรี


เกวียนควาย

ค. สาลี่

            เป็นเครื่องบรรทุกที่มีลักษณะคล้ายเกวียน มีล้อ ๒ ล้อ ใช้บรรทุกหรือลากสิ่งที่มีขนาดใหญ่และหนักมากๆ เช่น ไม้ซุงทั้งต้น แต่ละส่วนของสาลี่ ทำด้วยไม้แบบหยาบๆ ดูหนาเทอะทะ เพราะต้องการความคงทนแข็งแรงในการบรรทุก หรือลากสิ่งของหนักโดยเฉพาะ ปัจจุบัน มักไม่ค่อยพบเห็นสาลี่แล้ว แต่เดิมในภาคอีสานเรียกว่า สาลี ภายหลังเรียกตามภาคกลางว่า สาลี่ ต่อมาบางแห่งเพิ่มล้อจาก ๒ ล้อ เป็น ๔ ล้อ ใช้บรรทุกโดยการลากจูง


สาลี่ หรือสาลี

            สำหรับสาลี่ที่มีขนาดเล็กมีเฉพาะส่วนโครงสร้างสำคัญที่ใช้บรรทุกแล้วลากเคลื่อนที่ไปได้ บางแห่งจึงเรียกชื่อแตกต่างออกไป เช่น เรียกว่า ล้อเลื่อนหรือล้อควาย เพราะใช้ควายลาก หรือเรียกว่า ล้อลาก เพราะใช้คนลาก สาลี่ไม่จำเป็นต้องมีแปรกหรือแพด เพราะอาจเกี่ยวเอาสิ่งกีดขวางข้างทางได้ง่ายในขณะที่บรรทุกลากท่อนไม้ทั้งต้นออกมาจากป่า ส่วนล้อของสาลี่ มีทั้งล้อที่เป็นแผ่นไม้ตัน ซึ่งได้จากการตัดฝานตอไม้ และล้อที่เป็นซี่กำ ซึ่งมีขนาดซี่กำที่ใหญ่และแข็งแรง เมื่อบรรทุกไม้ซุงทั้งต้น จะวางไว้บนพื้นของสาลี่ และมักใช้คนลากหลายๆ คน ถ้าลากในทางราบจะใช้เชือกหนังควาย ๓ เกลียว หรือเครือตาปลาผูกกับหัวของสาลี่ หรือผูกไม้ที่ใช้จับลากโดยขันชะเนาะเป็นช่วงๆ ช่วงละประมาณ ๗๐ เซนติเมตร เพื่อให้คนสามารถจับลากไปได้

            ส่วนสาลี่ที่มีขนาดใหญ่มีขนาดใหญ่กว่าเกวียนหรือระแทะทั่วไป คือ มีขนาดเท่าๆ กับเกวียนขนาดกลาง ส่วนใหญ่ไม่มีแปรกหรือแพดเหมือนสาลี่ขนาดเล็ก มีวงล้อ ดุม และซี่กำ ซึ่งมีขนาดใหญ่และแข็งแรง อาจมีลูกกรงยกขอบข้างตัวเกวียน เพื่อใช้บรรทุกสิ่งของเล็กๆ น้อยๆ เช่น กิ่งไม้ที่ได้จากการตัดโค่น ส่วนท่อนไม้ทั้งต้น จะลากโดยการยกห้อยแขวนไว้ใต้ท้องสาลี่ หรืออาจบรรทุกไว้ด้านบนก็ได้