ประโยชน์ใช้สอยของเกวียน
ในอดีตเมื่อต้องเดินทางขนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมากและมีจำนวนมากเกินกำลังคน ก็จะใช้สัตว์ขนย้าย ต่อมาเมื่อมีเกวียน จึงใช้เกวียนที่ใช้แรงงานสัตว์เป็นพาหนะอเนกประสงค์ ทำให้ทุ่นแรงคนได้มาก สามารถเดินทางได้ระยะไกลและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้เกวียนยังมีประโยชน์อย่างมากสำหรับงานที่เกี่ยวกับการทำนา จนอาจกล่าวได้ว่า เกวียนเป็นพาหนะคู่ใจของชาวนา มาแต่อดีต ทุกครอบครัวจึงต้องมีเกวียนอย่างน้อย ๑ เล่ม เห็นได้จากเมื่อคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพระราชบัญญัติทางหลวง ซึ่งต้องมีการเวนคืนที่ดินริมทางหลวงและห้ามวัวควายเดินบนถนนทางหลวง แต่มีราษฎรคัดค้านและขอให้สร้างทางเกวียน เพราะราษฎรส่วนใหญ่ต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะ การออกกฎหมายห้ามวัวควายขึ้นไปเดินบนทางหลวง ทำให้ราษฎรไม่สามารถใช้เกวียนได้ ซึ่งถือเป็นการตัดการติดต่อสัมพันธ์กัน การประชุมในครั้งนั้น สภาผู้แทนราษฎรต้องมีมติให้ผ่อนผันในเรื่องการใช้เกวียนเป็นพาหนะบนไหล่ถนนได้ จึงเห็นได้ว่า นอกจากใช้ประโยชน์ในการบรรทุกข้าวหรือพืชผลทางการเกษตรเป็นหลักแล้ว เกวียนยังเป็นพาหนะในการเดินทางติดต่อกัน ระหว่างหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ เป็นปกติด้วย เช่น การเดินทางไปเยี่ยมญาติพี่น้อง การเดินทางไปร่วมงานบุญต่างๆ ที่มีระยะทางไกลเกินกว่าจะเดินทางด้วยเท้า และจำเป็นต้องบรรทุกสิ่งของจำนวนมากไปด้วย นอกจากนี้ ยังนำเกวียนไปใช้ประโยชน์ในโอกาสพิเศษ หรือการจัดงานพิธีกรรมต่างๆ โดยการตกแต่งเกวียนเข้าร่วมขบวนแห่ในงานบุญต่างๆ เช่น ขบวนแห่บั้งไฟเอ้ ในงานบุญบั้งไฟ เดือน ๖ ขบวนแห่เทียนพรรษา ในงานบุญเข้าพรรษา เดือน ๘ ขบวนแห่ปราสาทผึ้ง ในงานบุญออกพรรษา เดือน ๑๑ ขบวนแห่บุญกฐิน และขบวนแห่กระทง ในงานลอยกระทง เดือน ๑๒ รวมไปถึงการตกแต่งเกวียน เพื่อใช้เป็นพาหนะเคลื่อนศพหรือแห่ศพ
เกวียนที่ตกแต่งให้สวยงาม เพื่อเข้าร่วมในงานบุญต่างๆ
ส่วนประโยชน์ของเกวียนในด้านอื่นๆ คือ การใช้เป็นพาหนะเดินทางไกลในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมักเป็นการใช้ประโยชน์ตามโอกาสมากกว่า เช่น กลุ่มขบวนของนายฮ้อย (พ่อค้า) ที่ใช้เกวียน ต้อนวัวควายเดินทางค้าขาย จากภาคอีสานไปที่จังหวัดสระบุรี ปทุมธานี นครนายก ฉะเชิงเทรา และชลบุรี การรับจ้างบรรทุกลำเลียงสินค้า ข้าว และของป่าต่างๆ จากทุ่งนาป่าเขายอดดอยไปยังจุดขนถ่ายสินค้าทางเรือหรือรถไฟ บางครั้งชาวบ้านก็จะชักชวนกันเดินทางรอนแรมด้วยเกวียน เพื่อไปนมัสการปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญที่เคารพนับถือ แม้กระทั่งล้อเกวียน ก็ยังนำไปใช้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนาในรูปของธรรมจักรด้วย