คำเรียกเกวียน
ในภาคกลางจะออกเสียงเรียกว่า “เกวียน” หมายถึง พาหนะชนิดหนึ่ง มีล้อ ๒ ล้อ ใช้ควายหรือวัวเทียม ใช้ลักษณนามว่า เล่ม และมีการนำไปใช้เป็นชื่อมาตราตวง โดย ๘๐ สัด หรือ ๑๐๐ ถัง เป็น ๑ เกวียน แต่ถ้าเป็นมาตราตวงตามแบบราชการที่เรียกว่า เกวียนหลวง จะมีอัตราเท่ากับ ๒,๐๐๐ ลิตร หรือ ๒ กิโลลิตร
เกวียนรูปแบบหนึ่ง
นอกจากนี้ก็ยังมีคำที่ใช้เรียกเกวียนหรือพาหนะที่มีลักษณะคล้ายเกวียนแตกต่างกันออกไปอีกหลายชื่อ ดังนี้
ระแทะ เป็นคำเรียกเกวียนขนาดเล็ก ที่ใช้วัวเทียม บางทีก็เรียกว่า รันแทะ หรือ กระแท บางแห่งเรียกว่า กระแทะ ซึ่งเป็นคำที่รับมาจากภาษาเขมร คือ ระแตะ (ภาษาเขมรเขียนว่า รเทะ อ่านออกเสียงเป็น รอเตะฮฺ)
เกียน เป็นคำเรียกเกวียนตามเสียงของคนท้องถิ่นภาคอีสาน และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมทั้งคนท้องถิ่นภาคใต้ ที่ใช้ทั้งคำว่า เกียน และ เกวียน บางแห่งก็ใช้คำว่า ล้อที่หมายถึง เกวียน
เกวี๋ยน เป็นคำเรียกเกวียนตามเสียงของคนท้องถิ่นภาคเหนือ บางทีเรียกว่า ล้อ ในอดีตมีคำเรียกเกวียนว่า ล้องัว ล้อเฮือน หรือ เฮือนล้อ
สาลี่ คนท้องถิ่นภาคอีสานในอดีตเรียกว่า สาลี เป็นพาหนะที่มีลักษณะคล้ายเกวียน มี ๒ ล้อ ใช้บรรทุกของหนัก เช่น ต้นไม้ทั้งต้น สาลี่มีทั้งขนาดใหญ่ที่ใช้ควายหรือวัวลาก และขนาดเล็กที่ใช้คนหลายสิบคนลากไปในทางราบ
หนวนหรือหลวน เป็นคำที่คนท้องถิ่นในภาคใต้ใช้เรียกพาหนะที่คล้ายเกวียนแต่ไม่มีล้อ ซึ่งทั่วไปจะหมายถึง เลื่อน ที่ใช้บรรทุกของหนัก