การฝึกวัวควายใช้เทียมเกวียน
การใช้เกวียนที่ต้องเทียมวัวหรือเทียมควายเป็นกำลังลากแทนแรงคน จำเป็นต้องฝึกวัวควายเข้าเทียมเกวียนให้ได้ก่อน ซึ่งจะเริ่มฝึก เมื่ออายุประมาณ ๓-๔ ปี และฝึกเฉพาะวัวเพศผู้ที่ “ตอน” แล้วเท่านั้น เพราะแข็งแรงกว่าวัวเพศเมีย ถ้าเป็นควาย จะใช้ทั้งควายเพศผู้และเพศเมีย ส่วนใหญ่ชาวบ้านมักฝึกสัตว์เลี้ยงของตนเอง ซึ่งอาจต้องใช้เวลามากกว่า ๑ สัปดาห์ แต่ถ้าใช้ “หมอฝึก” ที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ จะใช้เวลาไม่เกิน ๑ สัปดาห์
การฝึกควายเทียมเกวียน
การฝึกวัวเทียมเกวียนมักเริ่มฝึกวัวใหม่เป็นคู่ๆ ก่อน โดยผูกเชือกค่าววัวข้างซ้ายไว้กับสายตะพายวัวทั้ง ๒ ตัว มีคน ๒ คนช่วยกันจับ พาเดินลากเกวียน และมีคนนั่งขับเกวียน ๑ คน เมื่อวัวทั้งคู่เทียมเกวียนได้แล้ว เวลาใช้งานเทียมเกวียนจริงจะต้องให้วัวตัวนั้น เข้าเทียมข้างแอกด้านที่เริ่มฝึกเท่านั้น จะเปลี่ยนอีกข้างไม่ได้ วัวจะกระโดด เพราะไม่เคยชิน คือ เมื่อแรกเริ่มฝึกอยู่ข้างซ้าย ก็ต้องให้อยู่ข้างซ้ายตลอด ถ้าเริ่มฝึกอยู่ข้างขวาก็ต้องให้อยู่ข้างขวาตลอด แม้จะสลับคู่เปลี่ยนตัวกันเข้าเทียม ก็จำเป็นต้องให้อยู่ข้างแอกที่ฝึกมาแต่แรกเริ่ม ส่วนการฝึกควายก็เช่นเดียวกัน
วัวควายส่วนใหญ่จะฝึกเทียมเกวียนได้ไม่ยากนัก เพียงแค่ผูกเข้ากับเกวียน แล้วให้เดินตามเกวียน ก็สามารถเข้าเทียมเกวียนใช้งานจริงได้ แต่วัวบางตัวไม่เชื่อง จะดื้อดึงหรือขัดขืนเมื่อจับเข้าฝึกเทียม โดยการสลัดแอก หรือแสดงท่าทางว่า ต้องการนอน ซึ่งในภาคอีสานเรียกวัวที่แสดงอาการเช่นนี้ว่า วัวแคะ เป็นวัวที่ฝึกยาก หรือไม่สามารถฝึกได้ หรือไม่ยอมคุ้นเคยกับแอกเกวียน
วัวที่ผ่านการฝึกเทียมเกวียนแล้ว จะคุ้นเคยกับสัญญาณการบังคับวัวจากคนขับเกวียน ซึ่งสัญญาณที่ใช้กับวัวเทียม ได้แก่ เชือกค่าว ไม้กะตัก (ไม้ปฏัก) และเสียงคำสั่ง เช่น
สั่งให้เดิน : คนขับจะสะบัดเชือกค่าวเบาๆ พร้อมออกเสียง ฮื่อ เฮ่อ เฮ่ย-เฮ่ย หรือ ฮึ่ย-ฮึ่ย ถ้าต้องการให้วัวเทียมเดินตรงไป คนขับจะจับเชือกให้ตึงเล็กน้อย
สั่งให้เลี้ยว : ถ้าต้องการให้เลี้ยวไปทางซ้าย ก็ให้กระตุกดึงเชือกค่าวของวัวตัวที่อยู่ด้านซ้ายที่ต้องการให้เลี้ยว พร้อมทั้งใช้ไม้กะตักแทงสะโพกด้านนอกของวัวอีกตัวหนึ่ง เป็นการบอกให้เลี้ยวตามวัวตัวที่ถูกดึงเชือกค่าว หรือถ้าต้องการให้เลี้ยวขวา จะใช้การกระตุกเชือกหรือสะบัดเชือก เพื่อสั่งให้เลี้ยวขวา
สั่งให้จอด : เมื่อต้องการสั่งให้หยุดเพื่อจอดเกวียน คนขับต้องดึงเชือกค่าวให้ตึงพร้อมกันทั้ง ๒ ตัว พร้อมกับสั่ง “หยุด” คนขับเกวียนทางภาคกลางหลายแห่งจะบอกว่า “ยอ” หรืออาจไม่ต้องบอกก็ได้ เพราะเมื่อดึงเชือกค่าวจนตึง วัวจะรู้ว่า ต้องหยุด