เล่มที่ 36
เกวียน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
พาหนะหลักทางบกแต่ครั้งโบราณ

            ในสมัยก่อนการเดินทางที่มีสิ่งของจะใช้วิธีบรรทุกขนส่งด้วยการหาบ การหาม โดยใช้แรงคนหรือแรงสัตว์ ต่อมา เมื่อสามารถสร้างเกวียน ซึ่งเป็นพาหนะขับเคลื่อนด้วยล้อ ๒ ล้อที่ใช้แรงงานสัตว์เทียมลากได้แล้ว เกวียนจึงกลายเป็นพาหนะหลัก ใช้ในการบรรทุกเดินทางขนส่งทางบกระหว่างชนบทกับชนบท หรือชนบทกับในเมือง และเป็นเสมือนพาหนะคู่ใจของคน ในสังคมเกษตรกรรม จนอาจกล่าวได้ว่า ทุกครอบครัวในสังคมเกษตรกรรมต้องมีเกวียนไว้ใช้งานอย่างน้อย ๑ เล่ม


"เกวียน" พาหนะคู่ใจของคนในชนบทสมัยก่อน

            ถ้าพิจารณาความหมายของสถาปัตยกรรมในแง่มุมว่าเป็นสิ่งที่มีพื้นที่ใช้สอยแล้ว เกวียนก็จัดว่าเป็นสถาปัตยกรรมประเภทหนึ่ง คือ เป็นเสมือนเรือนเคลื่อนที่ของเกษตรกร ในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่ช่วงการเก็บเกี่ยวจนถึงก่อนการทำนา โดยใช้บรรทุกขนส่ง หรือเดินทางทางบก ทั้งระยะใกล้และระยะไกลเป็นประจำทุกปี  
ปัจจุบันความสำคัญของเกวียนลดน้อยลงมาก จากที่เคยใช้เป็นพาหนะหลักในการบรรทุกและการเดินทางขนส่ง ก็นำมาใช้เป็นเพียงเครื่องประดับตกแต่งบ้านเรือน และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมในอดีตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ