เล่มที่ 36
เกวียน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ยุคพัฒนา : จุดเปลี่ยนของเกวียน

            ในอดีตเกวียนใช้ในการบรรทุกข้าวจากนาเป็นหลัก เมื่อเก็บเกี่ยวและนำข้าวเก็บในยุ้งฉางแล้ว จึงจะนำเกวียนมาใช้ในโอกาสอื่นๆ ได้แก่ บรรทุกขนส่งเกลือ บรรทุกข้าวไปขายหรือนำไปแลกเปลี่ยนสิ่งของอื่น รับจ้างขนส่งสินค้าหรือพืชผลทางการเกษตร บรรทุกชักลากไม้ซุงทั้งต้น ส่วนใหญ่เป็นการใช้เกวียนในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก แต่บางครั้งอาจใช้เกวียนเดินทางไปค้าขาย ในระยะทางไกลๆ เช่น จังหวัดสระบุรี นครนายก ชลบุรี หรือต้อนวัวควายไปขายถึงกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นเดือน หรือนานถึง ๓ เดือน


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงเปิดการเดินรถไฟสายแรก
จากกรุงเทพฯ - นครราชสีมา

            จุดเปลี่ยนสำคัญของการใช้เกวียนบรรทุกขนส่งและเดินทางไกล คือ การสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทย เริ่มต้นจาก กรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา ระยะทาง ๒๖๔ กิโลเมตร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปทรงเปิดการเดินรถไฟสายนี้ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๓ ดังนั้นการใช้เกวียนบรรทุกขนส่งหรือเดินทาง จากท้องถิ่นหลายแห่ง ในภาคอีสานเข้าสู่กรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนจุดหมายมาที่นครราชสีมา เพื่อขนถ่ายสัมภาระหรือสินค้า ที่สถานีรถไฟมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ระยะทางการใช้เกวียนสั้นลงกว่าเดิม นอกจากนี้ในรัชกาลที่ ๕ มีการตรากฎข้อบังคับ เพื่อควบคุมการใช้เกวียน แม้จะถือกันว่า เป็นกฎหมายฉบับแรกที่ว่าด้วยการใช้เกวียน แต่ก็มีผลบังคับใช้เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น


การขนส่งทางรถไฟ ซึ่งเข้ามาแทนที่เกวียน

            ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่า ควรให้ “ขนาดของล้อเกวียนกว้างเท่ากันทั่วราชอาณาจักร” และใน พ.ศ. ๒๔๖๐ รัชกาลเดียวกัน ได้กำหนดให้มีการ “จดทะเบียนรับใบอนุญาตขับขี่ล้อเลื่อนทุกชนิดในเขตพระนครทุกๆ ปี” ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จึงมีการตรา “พระราชบัญญัติล้อเลื่อน พุทธศักราช ๒๔๗๘” ให้เก็บค่าจดทะเบียนเกวียนเล่มละ ๑ บาท นับแต่เริ่มใช้จนชั่วอายุเกวียน ซึ่งไม่ค่อยมีผลกระทบต่อการใช้เกวียนของชาวบ้านทั่วไป เท่าใดนัก


ใบอนุญาตใช้เกวียน

            จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๙๓ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัฐบาลในขณะนั้นได้สร้างทางหลวงแผ่นดิน สายสระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมา คือ ถนนสุดบรรทัด (เพื่อเป็นเกียรติแก่ พันโท ประเสริฐ สุดบรรทัด) และทางหลวงแผ่นดิน สายนครราชสีมา-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย คือ ถนนเจนจบทิศ [เพื่อเป็นเกียรติแก่ขุนเจนจบทิศ (ชื้น  ยงใจยุทธ)] ยิ่งทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้เกวียนมากกว่า เมื่อมีรถไฟมาถึงนครราชสีมา เพราะทางหลวงแผ่นดินทั้ง ๒ เส้นทาง มีรถบรรทุก ๔ ล้อ และ ๖ ล้อ ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทแทนเกวียนมากขึ้น เพราะสะดวกรวดเร็วมากกว่าเกวียน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ ก็ยังคงใช้เกวียนกันอยู่ โดยเฉพาะตามเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างชุมชนหรือหมู่บ้านต่างๆ ในที่ห่างไกลจากทางหลวงแผ่นดิน


จิตรกรรมฝาผนัง วัดร้องเม็ง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ แสดงภาพชาวนากลับจากทุ่งนาสู่หมู่บ้านโดยใช้เกวียน

            การสร้างถนนมิตรภาพ คือ เส้นทางหลวงสายสุดบรรทัด และสายเจนจบทิศ จากตำบลปากเพรียว จังหวัดสระบุรี ไปสิ้นสุด ที่จังหวัดหนองคาย ใน พ.ศ. ๒๕๐๐ สมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์ นั้นได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา ทั้งในด้านงบประมาณและเทคนิคในการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นถนนสายหลักใช้แทนการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ขยายสู่อินโดจีน นอกจากนี้ได้สร้างเส้นทางสายรองเชื่อมระหว่างชุมชนเมืองและชนบท ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง ทำให้การเดินทางมีความสะดวกรวดเร็ว และเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เส้นทางที่ใช้เกวียนจึงเหลือน้อยลง และระยะทางสั้นลง คงใช้กันระหว่างชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกันเป็นส่วนใหญ่ เมื่อหน่วยงานของรัฐ คือ สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) สร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างหมู่บ้านในชนบทมากขึ้น จึงมีการใช้รถกระบะบรรทุกแทนเกวียน ทำให้เกวียนส่วนใหญ่ที่เคยใช้เป็นพาหนะในการบรรทุกขนส่ง และเดินทาง ถูกนำมาเก็บไว้ใต้ถุนบ้านเรือน ซึ่งสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในหลายหมู่บ้าน จนอาจกล่าวได้ว่า หลายแห่งเลิกใช้เกวียนกัน ไม่น้อยกว่า ๒๐ ปีแล้ว บรรดาช่างเกวียนก็เปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่น เพราะไม่มีคนสั่งทำเกวียน โดยเฉพาะเกวียนสลักลวดลาย ของบ้านนาสะไมย์ ได้เลิกทำมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ ช่างเกวียนบ้านนาสะไมย์ที่มีฝีมือในการสลักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจง ต่างเปลี่ยนไปทำงานแกะสลักบานประตู และบานหน้าต่างของโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ แทนการทำเกวียนสลักลวดลาย เกวียนที่เป็นพาหนะคู่ใจในสังคมของชาวชนบท จึงหมดความสำคัญในยุคการพัฒนาประเทศนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา จนกระทั่งมีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า “เกวียนก็ซบเซา  เรือก็ทรุดจม”


ล้อเกวียนนำมาดัดแปลงเป็นส่วนประกอบของเครื่องเรือน

            ปัจจุบันคนเริ่มหันกลับมาสนใจวัฒนธรรมในอดีตกันมากขึ้น จึงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงคุณค่าของเกวียน และกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ทำให้ช่างเกวียนที่มีอยู่จำนวนไม่มากในที่ต่างๆ เช่น บ้านนาสะไมย์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดยโสธร บ้านใจดี อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีโอกาสกลับมารื้อฟื้นทักษะฝีมือช่างและภูมิปัญญาอีกครั้ง แต่เป็นการทำเกวียนขนาดเล็กและขนาดกลาง สำหรับใช้เป็นของที่ระลึกและจัดแสดงเท่านั้น ส่วนเกวียนเก่าที่ถูกทิ้งร้างไว้ ก็ได้นำไปตกแต่งสวน รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ของเกวียนที่เป็นไม้เนื้อแข็ง ก็นำไปเป็นเครื่องตกแต่งที่อยู่อาศัย สวนหย่อม รั้วบ้าน ตลอดจนนำไปแปรรูป หรือประกอบขึ้นใหม่เป็นเครื่องเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ ถึงแม้จะเป็นเพียงเครื่องตกแต่งบ้าน หรือสถานที่ต่างๆ แต่ก็ทำให้คนรุ่นหลังยังมีโอกาสได้พบเห็น รู้จัก และได้ศึกษาเรื่องเกวียน ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในภูมิปัญญา อันทรงคุณค่าของบรรพชนไทยในอดีต