ไม้สำหรับทำเกวียน
การสร้างเกวียนแต่ละเล่มมักพบปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานบรรทุกหรือการเดินทาง ทั้งระยะใกล้และระยะไกล ซึ่งได้มีการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาสืบทอดต่อๆ กันมา ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การทำชิ้นส่วนโครงสร้างเกวียนแต่ละส่วนนั้น นิยมใช้ไม้หลากหลายชนิดตามความเหมาะสม และสอดคล้องกับประโยชน์ใช้งานที่แตกต่างกัน คือ
ดุมเกวียน นิยมใช้ไม้ประดู่ ไม้พยุง
อั่ว นิยมใช้ไม้เต็ง (อีสานเรียกว่า ไม้จิก) เพราะเนื้อแน่นและแข็ง
เพลาเกวียน นิยมใช้ไม้เค็ง ใช้ได้ทั้งแก่นและกระพี้ เพราะเป็นไม้ที่แข็งและเหนียวทนต่อการสึกกร่อน
กำเกวียน นิยมใช้ไม้พยุง
กงเกวียน นิยมใช้ไม้ประดู่ เพราะมีความทนทาน มีเสี้ยนน้อย และเหนียวไม่หักขาดง่าย นอกจากนี้ก็อาจใช้ไม้พยุง ไม้พะยอม ไม้สะแบง ไม้มะค่า
แปรกหรือแพด นิยมใช้ไม้พยุง ไม้แดง
คานหรือไม้ขวาง นิยมใช้ไม้พยุง ไม้พะยอม ไม้ประดู่
ไม้หัวเต่าหรือไม้ข่มเหง นิยมใช้ไม้ประดู่ ไม้พยุง ไม้พะยอม
ทูบหรือทวก นิยมใช้ไม้ตะเคียน (อีสานเรียกว่า ไม้แคน) ไม้ชา ไม้ประดู่
เรือนเกวียน นิยมใช้ไม้ประดู่ เพราะมีเนื้อไม้สวยงามทั้งสีและลายไม้
ก้องเพลา นิยมใช้ไม้กระโดนโคกหรือไม้จิกมากที่สุด ส่วนไม้ที่นิยมรองลงไป คือ ไม้ประดู่ และไม้พยุง
แอก นิยมใช้ไม้เหลื่อมมากที่สุด รองลงไป คือ ไม้กระทุ่ม และไม้ลิ้นฟ้า (ต้นเพกา) หรือใช้ไม้ที่เบา จะได้ไม่หนักคอวัวเทียม หรือควายเทียม
ลูกแอกหรือลูกแซะ นิยมใช้ไม้พยุง
แป้นชานหรือแป้นนั่ง นิยมใช้ไม้พยุง หรือไม้ชนิดใดก็ได้
ไม้ค้ำ นิยมใช้ไม้ไผ่