เล่มที่ 36
เกวียน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
แหล่งทำเกวียนและช่างเกวียน

            การทำเกวียนต้องใช้ทั้งทักษะฝีมือและประสบการณ์ในทุกๆ ขั้นตอน ดังนั้นจึงพบว่า แต่ละท้องถิ่นมีช่างทำเกวียน เฉพาะในบางชุมชนเท่านั้น เพราะเป็นความสามารถพิเศษที่ต้องอาศัยฝีมือและแรงงานที่ทำร่วมกันเป็นกลุ่ม และจะถ่ายทอดกัน ในแต่ละกลุ่มหรือชุมชนนั้นๆ ดังจะเห็นได้จากบันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงพระนิพนธ์ในหนังสือ นิทานโบราณคดี ที่กล่าวถึงหมู่บ้านที่ทำเกวียน ในจังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อครั้งเสด็จไปทรงตรวจราชการ ที่อำเภอสองพี่น้องว่า

“...ครั้งนี้จะไปดูอำเภอสองพี่น้อง อันเป็นอำเภอใหญ่ อยู่ข้างใต้เมืองสุพรรณบุรี ฉันนึกขึ้นถึงเมืองท้าวอู่ทอง... เมื่อตรวจราชการที่อำเภอสองพี่น้องแล้ว ฉันก็ขี่ม้าเดินบกไป

ทางที่ไปเป็นป่าเปลี่ยว แต่มีไม้แก่นชนิดต่างๆ มาก ถึงมีหมู่บ้านตั้งอยู่ในป่านั้น ชาวบ้านหากินแต่ด้วยทำเกวียนส่งไปขายยังที่อื่นๆ เพราะหาไม้ต่างๆ สำหรับทำเกวียนได้ง่าย...”

จากการสำรวจศึกษาในภาคอีสาน พบว่าหมู่บ้านที่มีช่างทำเกวียนหลายคน ได้แก่

บ้านนาสะไมย์ จังหวัดยโสธร มีช่างเปี่ยง  เจริญคุณ (เสียชีวิต) ช่างทุย  หาสำรี (ย้ายจากบ้านนาสะไมย์ไปอยู่ที่บ้านดู่ลาด อำเภอทรายมูล จังหวัดยโสธร และเสียชีวิต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓) ช่างบุญยัง  หาสำรี ช่างน้อย  หาสำรี (เสียชีวิต) ช่างผุย  เจริญบุตร และช่างทอก  ทองเกลียว

บ้านป่าสังข์ จังหวัดร้อยเอ็ด มีช่างจารพันทอง พิมพ์ภู พระครูโสภณบุณยเขต (โสม โสภาโณ) และพระนิคม  อาสาโภ

บ้านใจดี จังหวัดศรีสะเกษ มีช่างเกิด  เตารัตน์ (เสียชีวิต) ช่างหวล  ไกลถิ่น ช่างสมเกียรติ  เตารัตน์ (ลูกชายของช่างเกิด) ช่างหยาด  เทพแสง (ลูกเขยของช่างเกิด) และช่างทัด  สอนพูด


สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทับในเกวียน เมื่อครั้งเสด็จไปทรงตรวจราชการ ที่จังหวัดอุบลราชธานี

            นอกจากนี้ยังพบร่องรอยเพิ่มเติมว่า ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่เคยทำเกวียนมาแต่อดีต คือ บ้านสว่าง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด (ทำเกวียนสลักลาย) บ้านกุดน้ำใส อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านระเว และบ้านนาจาน อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี บ้านนาจารย์ อำเภอเมืองฯ จังหวัดกาฬสินธุ์ และบ้านธาตุ อำเภอเมืองฯ จังหวัดหนองบัวลำภู ฯลฯ