เล่มที่ 36
เกวียน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
เกวียนกับความงาม : คุณค่า-มูลค่า-สถานภาพ

            มีข้อสังเกตว่า สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ที่สร้างขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์ มักสร้างสรรค์ความงดงามควบคู่กันไปด้วย เพื่อเสริมคุณค่า เกวียนก็เช่นเดียวกัน นอกจากสร้างขึ้น เพื่อให้เป็นพาหนะทุ่นแรงที่มีประสิทธิภาพ เหมาะกับประโยชน์ใช้สอย และสอดคล้องกับสภาพพื้นที่แล้ว ช่างเกวียนแต่ละภูมิภาคต่างพยายามสร้างสรรค์ความงดงามให้แก่เกวียนด้วย ทำให้เกวียนมีคุณค่า และช่วยเพิ่มมูลค่ามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นเสมือนเครื่องแสดงสถานภาพทางสังคมและฐานะของเจ้าของด้วย


เกวียน นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีการจัดทำและปรับแต่งจนสมบูรณ์แบบ ไม่สามารถเพิ่มเติมหรือตัดส่วนใดออกได้ นอกจากสร้างสรรค์ให้มีความงดงามแตกต่างกันเท่านั้น

การสร้างสรรค์ความงดงามของเกวียนนั้น ช่างสามารถทำได้ ๒ ลักษณะ คือ การต่อเติม และการเพิ่มเติม  

๑. การต่อเติม 

            ช่างจะปรับแต่งชิ้นส่วนโครงสร้างบางส่วนของเกวียน และต่อเติมให้มีความงดงามตามความคิด จินตนาการ และทักษะฝีมือช่าง เช่น เกวียนของภาคกลางมีการปรับแต่งต่อเติมส่วนหัวทวกเกวียนให้งองอนขึ้นสูงอย่างเด่นชัด หรือมีลักษณะที่เรียกว่า งอนช้ง จนบางคนเรียกว่า เกวียนหัวช้ง และได้ถากดัดหัว-ท้ายของแปรกหรือแพดที่ใช้บังคับดุมเกวียนทั้ง ๒ ข้างให้โค้งงอนอ่อนช้อย รวมทั้งถากดัดไม้แม่กำพอง (ฟองเทิง หรือฟองบน) ๒ ข้างเรือนเกวียนให้งอนโค้งขึ้น จนปลายชี้สอดรับกับความโค้งของแปรก

๒. การเพิ่มเติม 

            เป็นการสร้างสรรค์ด้วยวิธีประดิษฐ์ตกแต่งลงบนชิ้นไม้ในส่วนต่างๆ ของเกวียนเท่าที่จะแสวงหาวัสดุมาได้ โดยผนวกกับฝีมือช่าง ที่ได้สั่งสมทักษะประสบการณ์สืบทอดต่อๆ กันมา เช่น ช่างภาคเหนือใช้วิธีการเขียนภาพและประดับกระจกบนผนังของเรือนเกวียน ช่างภาคอีสานใช้วิธีแกะสลักลวดลายต่างๆ อย่างวิจิตรบรรจงลงบนชิ้นส่วนไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ แปรกหรือแพด หัวทวก แอก แป้นชาน หัวโถน และไม้หัวเต่า แม้แต่ก้องเพลาที่อยู่ลึกใต้ท้องเกวียนก็ยังแกะสลักลวดลายอย่างวิจิตรบรรจงอีกด้วย เป็นการแกะสลักเต็มพื้นที่ทุกส่วนของเรือนเกวียน


การแกะสลักลวดลายเกวียนอย่างวิจิตรบรรจง

            การสร้างสรรค์ความงามให้แก่เกวียนดังกล่าวนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากอารมณ์ ความคิด จิตใจ จินตนาการ และทักษะฝีมือช่าง อีกส่วนหนึ่งเป็นความต้องการของผู้ใช้งาน แม้จะต้องลงทุนมากขึ้นก็ตาม เช่น ใช้วัสดุมากขึ้นในการประดิษฐ์ต่อเติมและเพิ่มเติม ใช้เวลาในการทำงานมากขึ้น อาจต้องใช้ช่างฝีมือเฉพาะหรือช่างที่ถนัดในด้านนี้ แต่ก็เสมือนเป็นความต้องการร่วมกัน คือ เมื่อได้ประโยชน์ใช้สอยหลักแล้ว ก็ยังประสงค์ให้เกวียนได้ตอบสนองทางด้านอารมณ์และจิตใจด้วย

            ด้วยเหตุนี้ เกวียนซึ่งมีคุณค่าหลัก คือ ใช้เป็นพาหนะบรรทุกที่ช่วยผ่อนแรงในการเดินทาง ก็ยังเป็นงานสร้างสรรค์ที่มีคุณค่าทางจิตใจ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย ดังนั้นผู้ที่เป็นเจ้าของเกวียนนอกจากเป็นผู้ที่ชื่นชอบในศิลปะแล้ว ยังถือว่า เป็นผู้ที่มีฐานะ และอำนาจบารมีในสังคมด้วย