เล่มที่ 36
เกวียน
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
โครงสร้างและส่วนประกอบของเกวียน

เกวียนมีโครงสร้างและส่วนประกอบ คือ


ทูบ

            ทูบ คือ ไม้แม่แคร่ทั้งคู่ของเกวียน บางทีเรียกว่า แม่แคร่เกวียน มีลักษณะที่ยื่นยาวออกไปด้านหน้าเกวียน ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับตัวเกวียนทั้งหมด และตั้งรับแอกที่ใช้เทียมวัวหรือควาย ในภาคอีสานเรียกว่า ทวก ภาษาเขมรเรียกว่า ตูก (เขียนว่า ทูก)



คาน

            คาน ช่างเกวียนและคนที่ใช้เกวียนมักเรียกว่า ไม้ขวางทาง หรือ แปรกขวาง มี ๒ ชิ้น อยู่ด้านหน้าและด้านหลัง เรียกว่า ขวางทางหน้า และขวางทางหลัง เป็นตัวไม้โครงสร้างด้านสกัดของเกวียน ทำหน้าที่รองรับทูบหรือทวก โดยมีไม้หัวเต่า หรือไม้ข่มเหง วางนาบทับอยู่บนคันทูบ แล้วใช้เครือไม้หรือหวายผูกมัดบังคับไว้ให้แน่น


ไม้หัวเต่า

            ไม้หัวเต่า เรียกอีกชื่อว่า ไม้ข่มเหง วางบังคับด้านบนของคาน คือ ขวางทางหน้าและขวางทางหลัง ทำหน้าที่ข่มบังคับทูบ ร่วมกับคานที่รองรับอยู่ด้านล่าง เหตุที่เรียกว่า ไม้หัวเต่า ก็เพราะตรงส่วนปลายทั้ง ๒ ข้าง ที่สลักควั่นตกแต่งมีลักษณะคล้ายหัวเต่า ส่วนคอเต่าจะเว้าคอด เพื่อมัดรัดทูบให้มั่นคง


แปรก

            แปรก มีชื่อเรียกแตกต่างกัน คือ แพด ปะแหรก ปะแหลก บางทีเรียกว่า แปรกบัง เป็นชิ้นส่วนที่ทำหน้าที่ขนาบบังคับล้อเกวียน ทั้ง๒ ข้าง ไม่ให้หลุดออกไป


ดุมเกวียน

            ดุมหรือดุมเกวียน คือ ส่วนกลางของวงล้อเกวียน ซึ่งเจาะรูทะลุสำหรับสอดเพลาเกวียน


ฮูดังควาย

            ฮูดังควาย คำเรียกนี้หมายถึง รูจมูกควาย เป็นรูที่เจาะเป็นช่องรอบๆ ดุมเกวียน เพื่อเสียบกำเกวียน หรือซี่ล้อเกวียน


กำ

            กำหรือกำเกวียน คือ ซี่ล้อเกวียน ปกติเกวียนที่ใช้งานทั่วไป มีกำ ๑๖ ซี่ แต่ถ้าเป็นเกวียนขนาดเล็ก หรือเกวียนของที่ระลึกจะมีกำ ๑๔ ซี่



กง

            กง คือ ส่วนวงรอบนอกของล้อเกวียน บางทีเรียกว่า กงเกวียน ซึ่งแต่ละชิ้น ที่ประกอบต่อกันเป็นวงขอบ มักถากไม้โค้ง ๔ ชิ้น ประกอบต่อกันเป็นวงขอบนอก บางทีเรียกว่า ฝักมะขาม เพราะมีลักษณะโค้ง คล้ายฝักมะขาม


หนาย

            หนาย บางครั้งเรียกว่า ขนาย เพราะมีขนาดสั้นคล้ายงาของช้างพัง ทำหน้าที่เป็นลิ่ม ตอกอัดตรงปลายด้านนอก ของกำเกวียน ที่เสียบติดอยู่กับกงเกวียน  เพื่อให้ช่องระหว่างกำเกวียนแต่ละซี่ ห่างเท่าๆ กัน


ล้อ

            ล้อ ใช้เรียกล้อเกวียนที่ประกอบสำเร็จแล้ว ทางภาคอีสานเรียกว่า ตีนเกวียน ทำหน้าที่หมุนเคลื่อน นำพาหนะไปตามแนวที่ขับเคลื่อน จนเห็นเป็นรอยทางเกวียน หรือคองตีนเกวียน ภายหลังใช้เหล็กแบนดัดโค้งครอบรัดวงล้อเกวียน เรียกว่า เหล็กตีนเกวียน ช่วยให้ล้อมีความมั่นคงแข็งแรง และช่วยป้องกันหรือชะลอ การสึกกร่อนของล้อได้มาก

            นอกจากนี้ยังมีล้อเกวียนอีกชนิดหนึ่ง ทำจากไม้แผ่นกลม โดยการตัดต้นไม้ตามขวาง (ตัดฝานตอ) และเจาะรูกลางแผ่นล้อ ให้เป็นรูปสี่เหลี่ยม เพื่อสอดปลายเพลาสี่เหลี่ยมทั้ง ๒ ข้าง ซึ่งจะช่วยขัดบิดล้อทำให้ล้อหมุนไปได้ดี และทนทานต่อการใช้งาน ได้นานกว่าปลายเพลากลม ทางล้านนาเรียกว่า ล้อตะลุมพุก


เพลา

            เพลา คือ เพลาเกวียน ในภาคอีสานเรียกว่า โค็ยเกวียน แต่เดิมใช้ไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้เค็ง ไม้พยุง ภายหลังใช้เหล็กกลมแทนไม้ ซึ่งแม้จะแข็งแรงกว่าไม้ แต่เหล็กเพลาจะเสียดสีกับรูดุมเกวียน จนทำให้รูดุมเกวียนหลวมเร็วกว่า และเมื่อเกวียนเคลื่อนตัว เกวียนจะกระเด้งสะเทือนกว่าใช้เพลาไม้


อั่ว

            อั่ว คือ ชิ้นไม้กลมมีความยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร ที่อัดแทรกอยู่ในรูดุมเกวียน เพื่อหุ้มรองรับเพลาเกวียน ช่วยลดการสึกกร่อนของรูดุมเกวียนและเพลาเกวียน ที่ต้องรับน้ำหนักมาก และเสียดสีตลอดระยะการเดินทาง การใส่อั่วเข้าไปในรูดุมเกวียน จะต้องเตรียมอั่วไว้ล่วงหน้า โดยใช้ข้าวเหนียวที่ตำละเอียดทารอบอั่ว แล้วพันผ้าฝ้ายโดยรอบ ทิ้งไว้ ๑ วัน ๑ คืน จึงค่อยตอกอั่วเข้าไปในรูดุม มิฉะนั้นอั่วจะแยกจากผ้า และดันแปรกจนหลุด ทำให้มีเสียงดัง บางแห่งใช้หนังสัตว์หุ้มรองรับเพลาแทนอั่วไม้ เรียกกันว่า จำปา


ก้องเพลา

            ก้องเพลา อยู่ใต้ท้องเกวียนในแนวดุมเกวียน  ทำหน้าที่สอดเพลาเกวียนด้านในใต้ท้องเกวียน ให้ยึดติดอยู่กับตัวทูบ

เขียง

            เขียง คือ แผ่นไม้ที่วางประกบบนหัวทวกเกวียน ทำหน้าที่เป็นเขียง รองรับเสาหลักแอก ซึ่งจะถูกประกบรัดเข้ากันให้ตึงแน่น ด้วยแผ่นไม้  ๔ แผ่น ที่เรียกว่า หนวก (หนวกเกวียน) จนมีลักษณะมัดแน่น เหมือนการมัดข้าวต้มโค่น  จึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า มัดข้าวต้ม  เมื่อประกอบกันแล้ว เรียกว่า หัวโอบง


แอก และลูกแอก

            แอก และลูกแอก คือ คานไม้ที่วางพาดขวาง โดยผูกมัดกับเสาหลักแอก ด้วยเส้นหนังที่เรียกว่า หนังหัวเกวียน  ตรงส่วนปลายของแอกทั้ง ๒ ข้าง จะเจาะรู สำหรับเสียบไม้ลูกแอกหรือลูกแซะ  สำหรับเป็นคานคล้องทาม หรืออ้อง เมื่อจะเทียมวัว หรือเทียมควาย

บองเกวียน

            บองเกวียน คือ เรือนเกวียน บางแห่งเรียกว่า ฮางรอง มีไม้เป็นขอบเสริมข้างเรือนเกวียน ให้สูงขึ้นทั้ง ๔ ด้าน ตรงส่วนที่ปูพื้นเรือนเกวียน เรียกว่า กะโซ่เกวียน มีหน้าที่รองรับการบรรทุกสิ่งของต่างๆ


กำพอง

            กำพอง คือ ตัวไม้ท่อนบนที่เป็นเสมือนราวลูกกรงทั้ง ๒ ข้างของเรือนเกวียน มีชื่อเรียกหลายชื่อ ได้แก่ แม่กำพอง กะพอง (กระพอง) ตะพอง (ตระพอง) ในภาคอีสานเรียกว่า ฟองเทิง หรือ ฟองบน ส่วนชิ้นไม้ที่เป็นลูกกรงข้างเรือนเกวียนนั้น บางทีเรียกว่า ลูกติ่ง หรือลูกสีข้าง

แป้นชาน

            แป้นชาน และหัวโถน คือ แผ่นไม้ที่ปูวางอยู่ระหว่างทวกเกวียนต่อกับหน้าเรือนเกวียน ใช้เป็นพื้นที่นั่งขับเกวียน ในบางครั้งจึงเรียกว่า แป้นนั่ง ปกติจะไม่ตียึดติดกับทวกอย่างถาวร มักใช้วิธีปรับขนาดให้วางได้พอดี และถอดออกได้ เมื่อต้องการใช้ประโยชน์อื่น เช่น พลิกด้านล่างขึ้นทำเป็นเขียง หรือใช้รองนั่ง ต่อจากแป้นชานจะมีไม้หัวโถน วางบังคับอยู่ข้างหน้า ซึ่งมักถากขอบหน้าให้เป็นเส้นโค้งหรือโค้งแหลม เพื่อตกแต่งแป้นชานให้ดูสวยงาม และช่วยเสริมทวกให้น่ามองและแน่นหนามากขึ้น

คั่นยัน

            คั่นยัน เป็นไม้ขนาดเล็กวางขวางยึดกับทวกเกวียน มีระยะห่างจากแป้นชานและหัวโถน พอประมาณ ในระยะที่คนนั่งขับเกวียนจะเหยียดขาไปยันได้ คั่นยันจะใช้มากที่สุด เมื่อบังคับให้วัวหรือควายหยุด และจะออกแรงมากที่สุดเมื่อวัวหรือควายพยศ ไม่ยอมหยุดตามคำสั่ง

ประทุน

            ประทุน บางครั้งเรียกว่า กระทุน เขมรเรียกว่า ปรอตล (เขียนว่า ปรท่ล) อีสานโบราณเรียกกันว่า พวงเกวียน เป็นเครื่องจักสานไม้ไผ่ มีขนาดกว้าง-ยาวเท่าเรือนเกวียน รูปโค้งสูงขนาดที่คนสามารถเข้าไปนั่งได้ มักทาด้วยยางรักสมุกสีดำ แต่เดิมผนังด้านในจะใช้ใบตาลรองกรุ แล้วปิดขนาบด้วยฮางพวงเกวียน ที่ทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นตาราง แล้ววางไม้ทาบ และผูกมัดให้แข็งแรง ใช้วางครอบเกวียน เมื่อบรรทุกสิ่งของจำนวนมากหรือเดินทางไกล ช่วยกันแดดให้ร่มเงาในฤดูร้อน ส่วนในฤดูหนาวจะช่วยกันลมได้ดี

ไม้ค้ำ

            ไม้ค้ำ มีหน้าที่ค้ำยันหัวเกวียน เมื่อหยุดพักจอดเกวียน นิยมใช้ไม้ไผ่ทำไม้ค้ำ เพราะมีน้ำหนักเบา และเหนียวทนทาน

มัดหัวเกวียน


            มัดหัวเกวียน คือ เชือกมัดส่วนกลางของแอกที่พาดติดกับตอนบนของหลักเขียงแอก แต่เดิมนิยมใช้เปลือกยางเครือบิดเกลียว เพราะมีความเหนียว เนื้อเส้นไม่แห้งกรอบง่าย และที่สำคัญคือ สุนัขไม่ชอบกัดแทะ ต่อมาภายหลังใช้หนังควายดำที่มีอายุ ๓ ปีขึ้นไป แทนเปลือกยางเครือ จนหลายท้องถิ่นเรียกว่า หนังหัวเกวียน