วิทยาการระบาด
โรคมาลาเรียมีขอบเขตการแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในช่วงละติจูดที่ ๖๔ องศาเหนือ ถึง ๓๒ องศาใต้ โดยครอบคลุมพื้นที่ที่อยู่ต่ำกว่าระดับทะเลปานกลาง ๔๐๐ เมตร เช่น ที่บริเวณทะเลเดดซีในภูมิภาคเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงพื้นที่ที่สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง ๒,๖๐๐ เมตร เช่น ที่ประเทศเคนยา ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก
เชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมและไวแวกซ์พบชุกชุมที่สุดในบรรดาชนิดของเชื้อที่แพร่หลายทั้ง ๕ ชนิด โดยเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมพบมากในทวีปแอฟริกา เกาะเฮติในทะเลแคริบเบียน และเกาะปาปัวนิวกินีในมหาสมุทรแปซิฟิก รวมทั้งดินแดนบางส่วนในทวีปเอเชีย ส่วนเชื้อมาลาเรียชนิดไวแวกซ์พบมากในภูมิภาคละตินอเมริกา ประเทศตุรกี จีน และอินเดียตอนกลาง แต่ไม่พบในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก เนื่องจากประชากรมีหมู่เลือดดัฟฟีย์ลบ (Duffy negative) ซึ่งจะต้านทานต่อเชื้อมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ ส่วนเชื้อมาลาเรียชนิดโอวาเลส่วนใหญ่พบในทวีปแอฟริกา

แผนที่แสดงพื้นที่การแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียในประเทศไทย
ภาพซ้าย เมื่อวันที่ ๑ มกราคม - ๓๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓
ส่วนภาพขวา เฉพาะเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓ เพียงเดือนเดียว
ในประเทศไทยพบเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัม ประมาณเกือบร้อยละ ๕๐ ชนิดไวแวกซ์อีกประมาณเกือบร้อยละ ๕๐ ส่วนเชื้อมาลาเรียชนิดโอวาเลและชนิดมาลาเรียอีพบน้อยมาก พื้นที่ที่พบโรคมาลาเรียชุกชุม ได้แก่ ป่าตามแนวชายแดนของประเทศไทย และพื้นที่สวนยางพารา ใน พ.ศ. ๒๕๕๑ มีรายงานการเกิดโรคมาลาเรียในประเทศไทย ๒๖,๐๖๔ ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยจำนวนมากมีอยู่ ๑๐ จังหวัด คือ จังหวัดตาก ยะลา นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ระนอง กาญจนบุรี ชุมพร สงขลา จันทบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยพบมากในฤดูฝน