เล่มที่ 36
โรคมาลาเรีย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การป้องกันและการควบคุม

            วิธีป้องกันการติดโรคมาลาเรียที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงกัด โดยใส่เสื้อแขนยาวกางเกงขายาว ทายากันยุง นอนในมุ้ง หรือใช้มุ้งชุบน้ำยาฆ่ายุง หรือนอนในห้องมุ้งลวด ไม่แนะนำให้ป้องกันโดยการกินยาต้านมาลาเรีย เพราะการเกิดมาลาเรียในประเทศไทยมีอัตราต่ำ และการใช้ยาป้องกันไม่สามารถรับรองผลได้อย่างสมบูรณ์ อีกทั้งยังอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ด้วย นอกจากนี้ในบางท้องถิ่นก็พบการระบาดของโรคมาลาเรียเพียงบางฤดูเท่านั้น ดังนั้นผู้ที่ออกมาจากพื้นที่ที่มีโรคมาลาเรียภายใน ๑ สัปดาห์ถึง ๒ เดือน ถ้ามีไข้ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือดโดยเร็ว


การถางวัชพืชไม่ให้ขวางทางน้ำไหลในหมู่บ้านชายป่า

การควบคุมเชื้อ 

กระทำโดย
  • พ่นสารเคมีที่เป็นยาฆ่ายุงตามบ้านเรือน ในท้องถิ่นที่มีโรคมาลาเรียชุกชุม ปีละ ๑-๒ ครั้ง ยุงจะตายภายใน ๒๔ ชั่วโมง และยามีฤทธิ์นาน ๖-๑๒ เดือน
  • นำมุ้งไปชุบน้ำยาฆ่ายุง ที่หน่วยงานของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
  • ปล่อยปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ปลาหัวตะกั่ว ปลาซิว ตามแหล่งน้ำไหลภายในหมู่บ้าน เพราะปลาชนิดดังกล่าว จะกินลูกน้ำ ทำให้จำนวนยุงลดลงได้ โดยติดต่อขอปลาได้จาก หน่วยงานของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทุกแห่ง
  • ควบคุมดูแลแหล่งน้ำไหล เช่น การถางวัชพืชริมน้ำ เพื่อให้น้ำไหลเร็วขึ้น และกลบหลุมบ่อในพื้นที่ ไม่ให้มีน้ำแช่ขัง เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
การให้ความร่วมมือ  
  • ยินยอมให้เจ้าหน้าที่พ่นสารเคมีเพื่อฆ่ายุงตามบ้านเรือน โดยเฉพาะในห้องนอน
  • นำมุ้งไปชุบน้ำยาฆ่ายุง
  • รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจ เมื่อกลับจากพักแรมในป่าแล้วมีไข้หรือรู้สึกไม่สบาย
  • เลี้ยงปลากินลูกน้ำ
  • ถางวัชพืชที่เจริญเติบโตข้างแหล่งน้ำ
  • รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง  และต้องรับประทานจนครบ
  • ป้องกันตนเอง เช่น นอนในมุ้ง  ทายากันยุง  สุมไฟไล่ยุง
  • สวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายไม่ให้ยุงกัด
  • นอนในบ้านที่ได้รับการพ่นยาฆ่ายุง