สรุป
โรคมาลาเรียพบได้ในเขตร้อนหลายแห่งทั่วโลก พบว่าบางพื้นที่มีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้น เนื่องจาก ประชากรหรือนักท่องเที่ยว เข้าไปในถิ่นที่มีโรคมาลาเรีย และอาจติดเชื้อมาลาเรีย โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ทำให้โรคมาลาเรียแพร่กระจายออกไปสู่คนอื่นๆ ในการวินิจฉัยโรคมาลาเรียนั้น อาศัยการตรวจพบการติดเชื้อ โดยการย้อมสีเลือดบนแผ่นกระจกใส แล้วตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์หาเชื้อในเม็ดเลือดแดง หรือใช้วิธีการวินิจฉัยแบบรวดเร็วโดยวิธี RDT เมื่อวินิจฉัยโรคได้แล้วควรให้การรักษาอย่างทันทีด้วยยาที่มีประสิทธิภาพ การรักษาผู้ป่วยมาลาเรียที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สามารถให้ยารับประทานได้ แต่ผู้ป่วยมาลาเรียชนิดรุนแรงควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และให้ยาแบบฉีด ผู้ป่วยที่เป็นเด็ก และหญิงมีครรภ์ ควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าผู้ใหญ่ ในปัจจุบัน เชื้อมาลาเรียได้พัฒนาตัวจนดื้อยารักษามาลาเรียมากขึ้นเรื่อยๆ ยารักษามาลาเรียบางชนิดใช้ได้ผลในประเทศหนึ่ง แต่อาจใช้ไม่ได้ผลในประเทศอื่น เนื่องจากเชื้อดื้อยา
การที่จะทำให้โรคมาลาเรียหมดไปจากประเทศไทยไม่สามารถปฏิบัติได้ โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากชุมชนด้วย การให้ความรู้เรื่องโรคมาลาเรียแก่คนในชุมชนจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะการให้ความรู้เบื้องต้นแก่เยาวชน ซึ่งในอนาคตจะเติบโตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และอาจต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคนี้ เพราะหากชุมชนมีความรู้เรื่องโรคมาลาเรียเป็นอย่างดี และตระหนักว่า เป็นปัญหาที่จะต้องรู้วิธีการปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้ว การมีส่วนร่วมในการควบคุมโรคที่ดีก็จะเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและสังคมโดยรวม