การวินิจฉัยโรคมาลาเรีย
หากผู้ป่วยไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคมาลาเรีย และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันเวลา จะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะของโรคอย่างรุนแรง ดังนั้นแพทย์จึงจำเป็นต้องถามประวัติการเดินทางในผู้ป่วยที่มีไข้ทุกราย เพราะผู้ป่วยที่ไม่ได้เดินทางเข้าไปในถิ่นมาลาเรียแล้วได้รับเชื้อนั้น พบน้อยมาก เช่น ได้รับเลือดที่มีเชื้อมาลาเรีย เกิดอุบัติเหตุจากการถูกเข็มที่ใช้เจาะเลือดผู้ป่วยโรคมาลาเรียตำ มาลาเรียแต่กำเนิด หรือได้รับเชื้อมาลาเรียมาจากสนามบิน โดยถูกยุงก้นปล่องที่ติดมากับเครื่องบินกัด นอกจากนี้ในการตรวจเลือดผู้ป่วยที่มีไข้ ถ้าพบว่ามีเกล็ดเลือดต่ำ ก็ควรนึกถึงโรคมาลาเรียด้วย
การเจาะเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรีย
การวินิจฉัยยืนยันโรคมาลาเรีย คือ การตรวจเลือดและพบเชื้อมาลาเรียในกระแสเลือด ส่วนการวินิจฉัยมาตรฐาน คือ การย้อมสีเลือดผู้ป่วยบนแผ่นกระจกใส แล้วดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ การวินิจฉัยโรคโดยไม่มีการตรวจเลือดยืนยันนั้น ไม่สามารถเชื่อถือได้ การตรวจเลือดต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ในรายที่สงสัยว่า เป็นโรคมาลาเรีย หากตรวจครั้งหนึ่งแล้วไม่พบเชื้อ ก็ต้องตรวจซ้ำ นอกจากนี้ยังต้องตรวจด้วยวิธีการและเทคนิคที่สูงขึ้น เช่น การย้อมเชื้อแบบเรืองแสง การตรวจกรดนิวคลีอิก (nucleic acid) ของเชื้อโดยวิธีเพิ่มดีเอ็นเอ หรือวิธีพีซีอาร์ การวินิจฉัยอย่างรวดเร็วโดยวิธีทดสอบอิมมูโนโครมาโทกราฟิก (Rapid diagnostic immunochromatographic test : RDT) ก็เป็นวิธีที่นิยมใช้ในสถานพยาบาล หรือในพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้กล้องจุลทรรศน์ในการวินิจฉัยเชื้อมาลาเรียได้
ป้ายเลือดที่เจาะบนแผ่นกระจกใส เพื่อนำไปย้อมสี
การวินิจฉัยโรคมาลาเรียโดยวิธี RDT นั้น มีความไวต่ำกว่าวิธีย้อมสีเลือดตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดังนั้น ถ้าหากมีปัญหาในการวินิจฉัยชนิดของเชื้อ โดยวิธี RDT หรือไม่มีการยืนยันการวินิจฉัยโรคจากการตรวจด้วยวิธีย้อมสีเลือด ก็ให้รักษาแบบผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมไปก่อน เพราะเป็นชนิดที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงได้ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า ไม่ใช่ จึงใช้วิธีรักษาโรคมาลาเรียชนิดอื่นต่อไป