เล่มที่ 36
โรคมาลาเรีย
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การรักษา

            ในประเทศไทยเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิพารัมดื้อต่อยาต้านมาลาเรียที่ชื่อว่า คลอโรควิน และซัลฟาดอกซินไพริเมทามีน ดังนั้น จึงไม่ควรนำยาทั้ง ๒ ชนิดดังกล่าวมาใช้รักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมในประเทศไทย แต่ยังคงใช้รักษาในประเทศอื่นๆ บางประเทศได้ ส่วนเชื้อมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ยังคงไวต่อยาคลอโรควินและยาไพรมาควิน จึงสามารถใช้ยาดังกล่าวได้

การรักษาผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง

            ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรงและไม่มีภาวะแทรกซ้อน การให้ยารับประทานก็เพียงพอ โดยอาจให้ยาลดไข้ก่อนให้ยาต้านมาลาเรีย และให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้คลื่นไส้ ที่สำคัญควรแนะนำผู้ป่วยให้แจ้งแก่เพื่อนที่ร่วมเดินทางไปในถิ่นที่มีโรคมาลาเรีย ให้ไปรับการตรวจวินิจฉัยด้วยเช่นกัน ถ้ามีไข้หรือรู้สึกว่าไม่สบาย เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว

            สำหรับผู้ป่วยโรคมาลาเรียฟัลซิพารัมที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และมีเม็ดเลือดแดงติดเชื้อตั้งแต่ร้อยละ ๒ ขึ้นไป หรือพบเชื้อมาลาเรียตัวแก่ในเลือด รวมทั้งผู้ป่วยหญิงมีครรภ์ หรือผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อน ควรให้การรักษาในโรงพยาบาล โดยให้ยาอาร์ทีซูเนตร่วมกับยาเมโฟลควิน หรือให้ยาควินินร่วมกับยาดอกซีไซคลิน ทั้งนี้ควรคำนึงว่า ยาดอกซีไซคลินนั้นห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า ๘ ปี

            ผู้ป่วยโรคมาลาเรียไวแวกซ์ และโรคมาลาเรียโอวาเล ให้ยาคลอโรควินร่วมกับยาไพรมาควิน ส่วนผู้ป่วยโรคมาลาเรียมาลาเรียอี และโรคมาลาเรียโนวล์ไซ ให้ยาคลอโรควินเพียงอย่างเดียว


การตรวจเลือดด้วยกล้องจุลทรรศน์

การรักษาผู้ป่วยอาการรุนแรง

            หรือรายที่มีภาวะแทรกซ้อนต้องให้ยาฉีด คือ ยาอาร์ทีซูเนตร่วมกับยาเมโฟลควิน หรือให้ยาควินินร่วมกับยาดอกซีไซคลิน สำหรับยาควินินนั้นกำจัดเชื้อในเลือดได้ช้ากว่ายาอาร์ทีซูเนต และผู้ป่วยที่ได้รับยาควินินจะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ปัสสาวะมีสีดำคล้ำ ทั้งนี้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจะต้องให้การรักษาแบบประคับประคองตามความจำเป็น

สรุป

การรักษาผู้ป่วยโรคมาลาเรียต้องให้เป็นไปตามแนวการรักษาของเชื้อแต่ละชนิดโดยเร็วที่สุด หน่วยงานที่ให้การบำบัดรักษา ได้แก่ 
  • มาลาเรียคลินิก ของสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
  • สถานีอนามัย
  • โรงพยาบาล