เล่มที่ 31
วรรณคดีท้องถิ่น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ปัจจัยสนับสนุนการสร้างสรรค์วรรณคดีท้องถิ่น

            มูลเหตุที่มีการสร้างสรรค์วรรณคดีอย่างมากมายในท้องถิ่นต่างๆ มาจากปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ พระพุทธศาสนา ชนชั้นสูงในท้องถิ่น และวิถีชีวิตในท้องถิ่น


จิตรกรรมฝาผนังเรื่องสังข์ทอง วัดพระสิงห์ อ.เมืองฯ จ.เชียงใหม่ (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมกรุงรัตนโกสินทร์)

พระพุทธศาสนา

            พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาสู่ดินแดนไทยตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย และกลายเป็นศาสนาหลัก ของชนชั้นปกครอง และประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ตลอดมา ซึ่งในสมัยก่อน วัดคือ ศูนย์กลางของการศึกษาเล่าเรียน พระพุทธศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ การประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนการสร้างสรรค์ศิลปกรรมในแขนงต่างๆ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และวรรณคดี

v

ประเพณีการบวชมีส่วนสำคัญในการสร้างกวีและนักเขียน รวมทั้งวรรณคดีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

            ในด้านวรรณคดี พระพุทธศาสนามีบทบาทในการส่งเสริม และสนับสนุนการสร้างสรรค์ วรรณคดีท้องถิ่น หลายประการ กล่าวคือ ในด้านผู้แต่ง ประเพณีการบวชในพระพุทธศาสนามีส่วนสำคัญในการสร้างกวี และนักเขียน ทั้งนี้ เพราะการบวชเรียน ช่วยให้พระสงฆ์อ่านออกเขียนได้ และมีโอกาสได้ศึกษา เรื่องราวต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา กวีและนักเขียนในท้องถิ่นต่างๆ ส่วนใหญ่จึงมักเป็นพระภิกษุ หรือผู้ที่เคยบวชเรียน ในด้านเนื้อหาของวรรณคดี เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ พุทธประวัติ ชาดก เรื่องพระมาลัย และหลักธรรมคำสอนต่างๆ นับเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญอย่างยิ่งในการสร้างสรรค์วรรณคดี การสำรวจวรรณคดีในท้องถิ่นต่างๆ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นวรรณคดี เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ความเชื่อ และประเพณีบางอย่าง เช่น ความเชื่อเรื่องอานิสงส์ของการสร้างพระคัมภีร์ หรือการสร้างหนังสือไว้ในพระพุทธศาสนา ที่ปรากฏในทุกท้องถิ่น มีส่วนอย่างมากที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ และการสืบทอดวรรณคดี ชาวบ้านเชื่อว่า การมีส่วนในการสร้างพระธรรม เพื่อถวายวัดเป็นพุทธบูชา มีอานิสงส์ให้ได้ขึ้นสวรรค์ ได้พบพระศรีอริยเมตไตรย์ ตลอดจนมีปัญญาสามารถบรรลุธรรมขั้นสูง จนกระทั่ง ถึงพระนิพพานในที่สุด ในท้องถิ่นต่างๆ ในแต่ละปีจะมีประเพณีทานธรรม โดยชาวบ้านจะจ้างผู้ที่สามารถเขียนหนังสือได้ ให้แต่ง หรือคัดลอกพระธรรมถวายวัด วรรณคดีท้องถิ่นส่วนใหญ่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เพราะผู้แต่งไม่ต้องการชื่อเสียง การสร้างสรรค์วรรณคดีถือกันว่า เป็นการบำเพ็ญกุศลทางศาสนาอย่างหนึ่งบนใบลาน จึงอาจไม่ระบุนามผู้แต่ง แต่ระบุนามผู้คัดลอก หรือนามชาวบ้านผู้จ้างคัดลอก หรือจ้างให้แต่ง


ประเพณีการเทศน์มหาชาติ มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดีเรื่องมหาเวสสันดรชาดกในทุกภาค

            ความเชื่อเรื่องอานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาติ หรือมหาเวสสันดรชาดก ก็มีส่วนส่งเสริมให้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดี ในท้องถิ่นต่างๆ ทุกปีจะมีประเพณีการฟังเทศน์มหาเวสสันดรชาดก ซึ่งเรียกกันว่า เทศน์มหาชาติ พระสงฆ์ที่เทศน์มหาชาติจะต้องฝึก จนสามารถเทศน์ ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ และถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก ให้สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เนื่องจากการเทศน์มหาชาติจัดขึ้นทุกปี จึงได้มีผู้แต่งมหาเวสสันดรชาดกสำนวนใหม่ๆ ขึ้น เพื่อให้ผู้ฟัง ได้ฟังสิ่งที่แปลกใหม่ไปจากเดิม เราจึงพบวรรณคดี เรื่องมหาชาติ หรือมหาเวสสันดรชาดกในทุกภาค แต่ละภาคก็มีหลายสำนวน เฉพาะในล้านนาได้พบมหาเวสสันดรชาดกจำนวนกว่า ๑๐๐ สำนวน

            กล่าวได้ว่า พระพุทธศาสนามีบทบาท สำคัญที่สุดต่อการส่งเสริม ให้มีการสร้างสรรค์วรรณคดีท้องถิ่น

ชนชั้นสูงในท้องถิ่น

            ท้องถิ่นบางแห่งเคยมีฐานะเป็นราชธานี เช่น เชียงใหม่ เคยเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านนา มีหลักฐานว่า เจ้านายล้านนา บางองค์อุปถัมภ์และส่งเสริมให้กวีหรือนักเขียนสร้างสรรค์วรรณคดี วรรณคดีล้านนา บางเรื่องจึงแต่งโดยกวีที่เป็นชนชั้นสูง สังเกต จากการเลือกใช้ถ้อยคำสำนวนที่ประณีต สละสลวย ใช้ศัพท์หรูหรา แสดงให้เห็นถึง ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ เห็นได้ชัดว่าเป็นผลงานของนักปราชญ์ราชบัณฑิต ไม่ใช่ผลงานของชาวบ้านธรรมดา เช่นเดียวกับวรรณคดีอีสานบางเรื่อง ที่รับมาจากลาว มีลักษณะเป็นวรรณคดีราชสำนัก แต่งโดยกวี ซึ่งเป็นชนชั้นสูง ในราชสำนักลาว ในสมัยโบราณ

วิถีชีวิตในสังคมท้องถิ่น

            วิถีชีวิตในสังคมท้องถิ่นเป็นวิถีชีวิตในสังคมเกษตรกรรม ซึ่งต้องพึ่งพาอาศัยร่วมแรงร่วมใจกันในการทำงาน สมาชิกในสังคมมีความใกล้ชิดสนิทสนมกัน การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม เช่น ดำนา เกี่ยวข้าว นวดข้าว นอกจากมีการพูดคุยกันอย่างสนุกสนานแล้ว บางครั้งยังมีการเล่านิทานนิยาย หรือร้องเพลงโต้ตอบกัน ในช่วงที่พักผ่อน ก็อาจอ่านวรรณคดีกัน ชาวบ้านในสมัยก่อน ส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก แต่สามารถรับรู้วรรณคดีได้ โดยมีผู้อ่าน หรือขับร้องเป็นเพลงให้ฟัง ในภาคใต้บางแห่ง หลังจากชาวนาไถนาตอนเช้าแล้ว ในช่วงพักผ่อนหลบแดดอยู่ใต้ร่มไม้ ก็มีการนำวรรณคดีมาอ่านสู่กันฟัง ในภาคอีสานสมัยก่อน ญาติจะอ่านวรรณคดีให้หญิงที่คลอดบุตรและอยู่ไฟฟัง ช่วยให้เพลิดเพลิน ผ่อนคลายความเบื่อหน่าย ที่ต้องอยู่กับที่ เป็นเวลานาน ในสังคมท้องถิ่น เมื่อมีงานประเพณีต่างๆ เช่น งานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน งานบวช และงานศพ ก็จะเป็นโอกาส ให้สมาชิกในสังคมมาพบปะสังสรรค์ ฟังการขับร้องเพลงพื้นบ้าน และฟังการอ่านวรรณคดี ในภาคกลาง มีการลอยเรือร้องเพลงเรือโต้ตอบกัน ในสมัยที่ยังไม่มีโทรทัศน์ หรือโรงภาพยนตร์ การฟัง และการอ่านวรรณคดีนับว่า เป็นความบันเทิงที่สำคัญของชุมชน เนื่องจากการฟัง การอ่านวรรณคดีเรื่องเดิมซ้ำๆ อาจทำให้ผู้ฟังผู้อ่านเบื่อหน่าย จึงได้เกิดการสร้างสรรค์วรรณคดีเรื่องใหม่ๆ ขึ้น เพื่อใช้อ่านสู่กันฟัง


การทำนาเป็นภาระที่เหน็ดเหนื่อย ในช่วงพักผ่อน อาจมีการอ่านวรงรณคดี หรือเล่านิทานสู่กันฟัง