เล่มที่ 31
วรรณคดีท้องถิ่น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นภาคใต้

            ภาคใต้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ได้กล่าวถึง พระสงฆ์ที่มีความรู้ฉลาดหลักแหลมของสุโขทัยในขณะนั้นว่า มาจากนครศรีธรรมราช วรรณคดีภาคใต้ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาน่าจะมีอยู่มากมาย อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจในขณะนี้พบว่า วรรณคดีจำนวนหนึ่ง เขียนโดยใช้อักษรขอม โดยเฉพาะวรรณคดีทางพระพุทธศาสนา ซึ่งยังจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียด จึงจะสรุปได้ว่า มีเนื้อหาอย่างไร และน่าจะแต่งขึ้นในสมัยใด วรรณคดีที่ใช้อักษรไทย เท่าที่สำรวจได้ขณะนี้ ส่วนใหญ่ไม่ได้กล่าวถึงปีที่แต่ง ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ นักวิชาการทางวรรณคดี ของภาคใต้ กล่าวว่า วรรณคดีที่เขียนบนสมุดข่อย หรือที่เรียกว่า "หนังสือบุด" ที่หลงเหลืออยู่ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มีอายุประมาณ ๑๕๐ - ๒๐๐ ปี อาจกล่าวได้ว่า น่าจะเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้น ในสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่แต่งสำหรับสวดโดยแต่งด้วยกาพย์ ๓ ชนิด คือ กาพย์ฉบัง กาพย์ยานี และกาพย์สุรางคนางค์ ซึ่งเรียกว่า ราบ ๓๒ และ ๒๘ หลายเรื่องได้รับอิทธิพลจากกรุงศรีอยุธยา และกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พาลีสอนน้องคำกาพย์ และคำกาพย์เรื่องโคบุตร เรื่องพระอภัยมณี เรื่อง ชาลวัน เรื่องศรีธนญชัย และเรื่องลักษณวงศ์ กวีหรือนักเขียนภาคใต้ ส่วนใหญ่เป็นภิกษุ หรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาก่อน วรรณคดีภาคใต้มีหลายประเภทเช่นเดียวกับท้องถิ่นอื่น คือ วรรณคดีพระพุทธศาสนา เช่น พระมหาชาดก กายนครคำกาพย์ วรรณคดีคำสอน เช่น กฤษณาสอนน้อง สุภาษิตร้อยแปด สุภาษิตสอนหญิง วรรณคดีพิธีกรรม เช่น บททำขวัญนาค บททำขวัญเรือ บททำขวัญข้าว วรรณคดีตำนาน ว่าด้วยความเป็นมา ของศาสนสถานที่สำคัญๆ เช่น ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานการสร้างพระปรางค์เมืองหงสา วรรณคดีนิทาน ที่รู้จักกันแพร่หลายในภาคใต้ เช่น เรื่องพระสุธนมโนห์รา นางสิบสอง นกกระจาบ สุบิน นายดั่น และวันคาร วรรณคดีนิราศ เช่น นิราศเกาะสมุย นิราศถ้ำเขาเงิน นิราศพัทลุง นิราศเสือขบ


วรรณคดีภาคใต้ที่เขียนบนสมุดข่อยสีขาวที่เรียกว่า บุดขาว บางเรื่องมีภาพประกอบสวยงาม

            วรรณคดีมุขปาฐะของภาคใต้ก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านภาคใต้สำคัญ ได้แก่ เพลงบอก และเพลงกล่อมเด็ก เพลงบอกเป็นเพลงที่ใช้ขับร้องบอกข่าวสารต่างๆ มีหลายทำนอง ส่วนเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้ ที่เรียกว่า "เพลงชาน้อง" หรือ "เพลงร้องเรือ" พบเป็นจำนวนมากกว่าภาคอื่นๆ เพลงกล่อมเด็กของภาคใต้หลายบท มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับวรรณคดี ที่รู้จักกันดีในท้องถิ่น ในด้านนิทานพื้นบ้านของภาคใต้ เท่าที่มีผู้รวบรวมไว้ ก็มีหลายประเภท โดยในกลุ่มคนไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม มีเพลงกล่อมเด็ก และนิทานพื้นบ้านที่มีเนื้อหาต่างออกไป