เล่มที่ 31
วรรณคดีท้องถิ่น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การแบ่งประเภทวรรณคดีท้องถิ่น

วรรณคดีท้องถิ่นอาจแบ่งประเภทตามลักษณะเนื้อหาดังนี้

๑. วรรณคดีคำสอน

            หมายถึง วรรณคดีที่แต่งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ เพื่อให้เป็นคติเตือนใจสมาชิก ระดับต่างๆ ในสังคม เนื้อหาส่วนใหญ่สอนเรื่องการวางตัว วรรณคดีประเภทนี้ พบทั้งในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน มีทั้งที่แต่งขึ้น เพื่อสอนชนชั้นสูง สอนคนทั่วไป และสอนผู้หญิง ส่วนใหญ่แต่งเป็นร้อยกรอง เนื้อหาประกอบด้วยคำแนะนำในด้านต่างๆ เช่น ถ้าเป็นคำสอนสำหรับชนชั้นสูง ก็จะสอนให้มีความยุติธรรม ถ้าเป็นกษัตริย์ต้องมีทศพิธราชธรรม มีความหนักแน่น ไม่ดื่มสุรา ไม่รังแกผู้ที่มีฐานะต่ำกว่า รักษาวาจาสัตย์ ไม่แสดงความขึ้งเคียด ให้ปรากฏ ถ้าเป็นคำสอนคนทั่วไป ก็จะสอนให้มีวาจาสุภาพ ให้คิดก่อนพูด ไม่ดูถูกผู้ที่อ่อนแอกว่า มีความอดทน มีความขยันหมั่นเพียร มีความจงรักภักดีต่อเจ้านาย สอนเรื่องการเลือกคู่ หากเป็นผู้หญิง ก็สอนให้มีความอ่อนโยน พูดจาอ่อนหวาน ซื่อสัตย์ต่อสามี คอยปรนนิบัติสามีให้มีความสุข ขยันหมั่นเพียรในการทำงานบ้าน ไปไหนก็ให้นึกถึงบุตรและสามี ให้มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อญาติของสามี จะเห็นว่า คำสอนต่างๆ ในวรรณคดีคำสอนเป็นสิ่งที่สังคมสมัยนั้นคาดหวัง เพราะหากมีการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนดังกล่าว ก็จะทำให้สังคมมีความสงบสุข

            วรรณคดีคำสอนของล้านนา เช่น คำสอนพญามังราย โคลงเจ้าวิทูรสอนโลก หรือโคลงพระลอสอนโลก ธรรมดาสอนโลก ปู่สอนหลาน หลานสอนปู่

            วรรณคดีคำสอนของอีสาน เช่น พญาคำกองสอนไพร่ อินทิญาณสอนลูก ท้าวคำสอน กาพย์ปู่สอนหลาน กาพย์หลานสอนปู่ กาพย์พระมุนี ธรรมดาสอนโลก โลกนิติคำกาพย์ สิริจันโทวาทคำสอน และเสียวสวาด ซึ่งมีลักษณะ เป็นนิทานซ้อนนิทาน

            วรรณคดีคำสอนของภาคใต้ มีความคล้ายคลึงกับวรรณคดีคำสอน ของภาคกลาง เช่น ลักษณะเมียเจ็ดสถาน สุภาษิตสอนหญิงคำกาพย์ กฤษณาสอนน้อง สวัสดิรักษาคำกาพย์ สุภาษิตพระร่วงคำกาพย์ พาลีสอนน้อง สุภาษิตร้อยแปด และลุงสอนหลาน

            น่าสังเกตว่า การให้คติธรรมคำสอนในวรรณคดีคำสอนนั้น นอกจากสอนโดยตรงแล้ว ส่วนมากจะใช้วิธีเปรียบเทียบอย่างแยบคาย โดยมักเปรียบเทียบกับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติแวดล้อม เช่น แม่น้ำ ลำธาร ภูเขา พืช สัตว์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้

            โคลงเจ้าวิทูรสอนโลก หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โคลงพระลอสอนโลก ของล้านนา สอนให้ยึดทางสายกลางในการดำเนินชีวิต โดยเปรียบเทียบกับดอกบัวว่า หากชูช่อสูงเกินไปก็จะเหี่ยวเฉาเพราะแสงอาทิตย์ ถ้าอยู่ใต้น้ำเกินไป ก็จะเน่าเปื่อยเป็นโคลนตม ดังนี้

                        สระศรีบังเกิดด้วย                      บัวมี
                        ยาวโยชน์เหนือนที                     แม่น้ำ
                        สุริยเบ่งรวายศรี                     เพียงพุ่ง มาเห่ย
                        บัวหุบหับเหี่ยวแห้ง                     ยอบย้าว บัวโรย
                        น้ำลึกถมถูกถ้วม                     บัวจม
                        บัวย่อมตายกลางตม มิ่งม้วย
                        ปานกลางพุ่มเพียงลม เสมอมาก ควรเห่ย
                        เอาเพดดังน้ำกว้าง อยู่เลี้ยงบัวบาน
โคลงพระลอสอนโลก หน้า ๑๔

            ในวรรณคดีคำสอนของอีสาน เรื่องอินทิญาณสอนลูก เปรียบเทียบหญิงที่ไม่มีสามี ทำให้ไม่มีคนกลัวเกรงไว้ ดังนี้

                        ชาติที่ตระกูลนี้ คนชายยังแก่
                        ญิงบมีผัวอยู่ซ้อน ใผบ่หย้านหย่อนแล้ว
                        วังบ่มีหนามนี้ พรานแหม่มีหย่อน มือแล้ว
                        น้ำบ่มีเงือกเฝ้า คนใบ้บ่เจียม
                        เพิงที่เอาผัวให้ เป็นอาจารย์สอนสั่ง
                        อย่าอวดอ้าง หัวล้านลื่นครู
อินทิญาณสอนลูก หน้า ๓๓

            สุภาษิตร้อยแปดของภาคใต้ชี้แนะว่า ในการคบคนจะต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่ ไม่เป็นคนหูเบา ฟังคนพูดด้วยเหตุด้วยผล โดยเปรียบเทียบดังนี้

                        คบเพื่อนให้พึงรู้             เพื่อนที่ดูเสมือนมาร
                        ยกตนแล้วข่มท่าน             พวกคนพาลหมายว่าดี
                        หางเต่ายาวแล้วสั้น            หางแลนนั้นว่ายาวรี
                        วัดกันค่ากันดี             ไม่เสียทีกันเท่าใด
                        ช้างเถื่อนย่อมจับได้            วัวควายร้ายย่อมได้ไถ
                        เสือหมีอยู่ในไพร             ย่อมจับได้ใส่กรงขัง&l

            ชี้แนะว่า อย่ารนหาอันตรายด้วยความประมาท โดยเปรียบเทียบดังนี้

                        อย่าคลำหางเสือผอม ราชสีห์ย่อมขามเกรง
                        เจ้านายของเราเอง  อย่าลวนลามอุเบกษา
                        เสือผอมกวางโจนเข้า เสือโคร่งเล่าวิ่งวางมา
                        ตบต้องคอมฤคา                      จึงรู้ว่าฤทธิ์เสือมี
                        งูเห่าเท่าไม้ม้วน                       อย่าได้ควรยุดหางตี
                        เพลิงน้อยเท่าแมลงหวี่ เผาได้สิ้นทั้งนคร
สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ หน้า ๘๑๐๖

๒. วรรณคดีนิทาน

            หมายถึง วรรณคดีที่มีเนื้อเรื่องเป็นเรื่องแต่งขึ้น ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง แม้ว่าบางเรื่องจะเขียนได้ดี จนดูเหมือนเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงก็ตาม อาจแบ่งวรรณคดีนิทานในท้องถิ่นต่างๆ ออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้

            ก. วรรณคดีนิทานมหัศจรรย์

                        ได้แก่วรรณคดีที่มีเนื้อเรื่องเป็นนิทาน การดำเนินเรื่องอยู่ในโลกแห่งจินตนาการ และมีอิทธิปาฏิหาริย์ แต่ในการถ่ายทอดได้สอดแทรก คติเตือนใจด้านจริยธรรม หรือศีลธรรมด้วย มักอ้างว่าเป็นเรื่องชาดก มีอยู่ในพระไตรปิฎก นิทานที่นำมาแต่งเป็นวรรณคดีอาจเป็นนิทานพื้นบ้านมาก่อน หรือดัดแปลงมาจากชาดก ตัวละครเอกมักเป็นพระโพธิสัตว์จุติลงมาจากสวรรค์ อาจเป็นพระโอรส หรือเป็นยาจก แต่มีคุณธรรม และมีบุญญาธิการสูง อาจมีความรู้ความสามารถพิเศษ เช่น สู้รบเก่ง ตอบปริศนาได้ หรือมีคาถาอาคม มีของวิเศษ เช่น ดาบหรือธนู สามารถแปลงกาย หรือเหาะเหินเดินอากาศ และรบชนะศัตรูซึ่งเป็นฝ่ายอธรรม มีตัวละครบางตัวเป็นอมนุษย์ เป็นยักษ์ หรือเทวดา วรรณคดีนิทานประเภทนี้มีอยู่จำนวนมากในทุกท้องถิ่น คติธรรมสำคัญ ที่สอดแทรกอยู่คือ เรื่องของกรรม ชี้ให้เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตัวละครจึงมักแบ่งอย่างชัดเจนเป็นฝ่ายดีและฝ่ายร้าย ตัวละครฝ่ายร้าย อาจเป็นญาติที่ใกล้ชิด เช่น แม่เลี้ยง หรือพี่น้อง หรือเป็นยักษ์ วรรณคดีประเภทนี้ มักนิยมใช้อ่านสู่กันฟัง เป็นความบันเทิงในสังคมสมัยก่อน วรรณคดีนิทานของท้องถิ่นต่างๆ หลายเรื่องมีเนื้อเรื่องซ้ำกัน แต่แต่งเป็นภาษาถิ่น และใช้รูปแบบร้อยกรองของแต่ละท้องถิ่น

                        ตัวอย่างรายชื่อของวรรณคดีนิทานมหัศจรรย์ของล้านนา ได้แก่ จำปาสี่ต้น พระสุธนนางมโนห์รา สุทธนู ก่ำกาดำ สุวรรณหอยสังข์ นกกระจาบ บัวระวงศ์ หงส์อำมาตย์ นางอุทธลา หงส์หิน เจ้าสุวัต ช้างงาเดียว กำพร้าบัวตอง วรรณพราหมณ์ แสงเมือง ช้างโพง อ้ายร้อยขอด


บานประตูไม้แกะสลักภาพเรื่องสังข์ทอง ซึ่งภาคเหนือเรียกว่า สุวรรณหอยสังข์ ที่พิพิธภัณฑ์วังสวนผักกาด เขตพญาไท กรุงเทพฯ

                        ตัวอย่างรายชื่อของวรรณคดีนิทานมหัศจรรย์ของภาคใต้ ได้แก่ พระรถเสน วันคาร สินนุราช นางแตงอ่อน เต่าทอง การะเกด พิกุลทอง จำปาสี่ต้น สุริยวงศ์ นกกระจาบ ปองครกคำกาพย์ พงศ์สุริยา สุวรรณหงส์ ตรีนารายณ์ พระทินวงศ์ พระสุธนนางมโนห์รา

            ข. วรรณคดีนิทานประเภทนิทานชีวิต

                        เป็นวรรณคดีที่มีเนื้อเรื่องเสมือนเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง เช่น ไกรทอง และขุนช้างขุนแผน ของภาคกลาง ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นจริง เรื่องขูลูนางอั้ว ที่เผยแพร่อยู่ในอีสาน และบทละครเรื่องน้อยไจยา ของล้านนา