สภาพปัจจุบันของวรรณคดีท้องถิ่น
ปัจจุบันวรรณคดีท้องถิ่นมีบทบาทลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวรรณคดีลายลักษณ์ คนในท้องถิ่นต่างๆ ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับวรรณคดีในท้องถิ่นของตน ประกอบกับ ระบบการศึกษาในอดีตที่ผ่านมา กำหนดให้การศึกษาภาษาไทย และวรรณคดีไทย ในโรงเรียน เน้นเฉพาะภาษาไทยกลาง และวรรณคดี ของภาคกลางเท่านั้น ทำให้เยาวชนจำนวนมาก เลิกพูดภาษาถิ่นของตน ไม่สนใจเพลงพื้นบ้าน และอ่านวรรณคดีท้องถิ่นไม่เข้าใจ ทั้งยังมีโอกาสน้อย ที่จะฟังพระเทศน์ หรืออ่านวรรณคดีด้วยสำเนียงและทำนองท้องถิ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะวรรณคดีท้องถิ่น นับเป็นมรดกภูมิปัญญา ที่สำคัญของท้องถิ่น แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้แต่ละท้องถิ่นสามารถจัดการศึกษาของตนได้ และให้ความสำคัญ ต่อการเรียนการสอนภาษาถิ่น และวรรณคดีท้องถิ่น โรงเรียนหลายแห่งในท้องถิ่น ได้เปิดสอนวิชาท้องถิ่นของเรา และวรรณคดีท้องถิ่นขึ้น อันจะทำให้การศึกษา วรรณคดีท้องถิ่น และการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นไปอย่างกว้างขวางขึ้น
สำหรับเยาวชนในปัจจุบัน หากได้มีโอกาสศึกษาวรรณคดีท้องถิ่น ก็จะมีความรู้ความเข้าใจ ในวิถีชีวิตในสังคมไทยมากขึ้น มีความรู้เรื่องภาษาถิ่น และขนบธรรมเนียมประเพณีท้องถิ่น ซึ่งมีความหลากหลายในสังคมไทย ตลอดจนเข้าใจ และซาบซึ้ง ในมรดกที่เป็นภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณคดีของไทยดียิ่งขึ้น จะได้ช่วยกันหาแนวทางในการอนุรักษ์ สืบทอด และพัฒนา ให้มีความเหมาะสม กับสังคมไทยในปัจจุบันและในอนาคตต่อไป