เล่มที่ 31
วรรณคดีท้องถิ่น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นอีสาน

            เมื่อกล่าวถึงวรรณคดีท้องถิ่นอีสาน ส่วนใหญ่หมายถึง วรรณคดีของชนกลุ่มวัฒนธรรมไทย - ลาว ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ในภาคอีสาน ประชากรกลุ่มนี้ ในอดีตมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด กับอาณาจักรล้านช้าง พูดภาษาเดียวกัน และใช้ตัวอักษรแบบเดียวกัน คือ ใช้อักษรธรรมแบบล้านนา ในการเขียนเรื่องราวทางศาสนา และใช้ตัวอักษรไทยน้อย หรืออักษรลาว สำหรับเขียนเรื่องทางโลก วรรณคดีลายลักษณ์ที่เผยแพร่อยู่ในท้องถิ่นอีสาน หลายเรื่อง เช่น แตงอ่อน สังข์ศิลป์ชัย กาฬะเกดหรือกาละเกด ขุนทึง ขูลูนางอั้ว นกกระจอก พระลักพระลาม เสียวสวาด เป็นวรรณคดีที่รับมาจากลาว สมัยที่ยังเป็นอาณาจักรล้านช้าง และเนื่องจาก อาณาจักรล้านช้าง เคยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับอาณาจักรล้านนา วรรณคดีหลายเรื่องของอาณาจักรล้านช้าง จึงตรงกับวรรณคดีของอาณาจักรล้านนา วรรณคดีที่สำคัญมากอีกเรื่องหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง คือ มหากาพย์เรื่อง ท้าวฮุ่งท้าวเจือง เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นเพื่อสดุดีท้าวเจือง ซึ่งเป็นวีรบุรุษ และเป็นบรรพบุรุษ ของกษัตริย์ล้านนา


หนังสือเจี้ย (สมุดข่อย) เรื่องตำราขอดสิม ซึ่งใช้ตัวอักษรธรรมอีสาน ในการบันทึกเรื่องราวทางศาสนา (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคอีสาน เล่ม ๑๔)

            อย่างไรก็ตาม มีกวีชาวอีสานหลายคน ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานขึ้นในท้องถิ่นของตน ส่วนมากเป็นพระภิกษุ หรือผู้ที่เคยบวชเรียนมาก่อน เช่น พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) นอกจากปริวรรตวรรณคดีที่มาจากลาว เช่น  กาพย์ปู่สอนหลานและกาพย์หลานสอนปู่ เป็นตัวอักษรไทยปัจจุบันแล้ว ยังมีผลงานการประพันธ์อีกหลายเรื่อง เช่น สิริจันโทยอดคำสอน โลกนิติคำกาพย์ คำกลอนพระยาฉัททันต์ กาพย์พระใหญ่ เขาพระงาม กวีท้องถิ่นอีกผู้หนึ่ง คือ ขุนพรหมประศาสน์ (วรรณ พรหมกสิกร) ซึ่งงานประพันธ์บางเรื่อง แสดงให้เห็นถึง การรับอิทธิพลจากภาคกลาง เช่น กาพย์เบญจศีล โลกนิติคำกลอน พระนล กามนิต หิโตปเทศ มีผลงานปริวรรตวรรณคดีจากลาวเป็นตัวอักษรไทยปัจจุบัน ๒ เรื่อง คือ เสียวสวาด และ สังข์ศิลป์ชัย บุคคลที่มีบทบาทเผยแพร่วรรณคดีท้องถิ่นอีสาน ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือ พระอริยานุวัตร (อารี เขมจารี) และนายปรีชา พิณทอง ซึ่งได้รวบรวมและปริวรรตวรรณคดีจากอักษรไทยน้อยและอักษรธรรม นำมาพิมพ์เผยแพร่หลายเรื่อง วรรณคดีที่เผยแพร่ในภาคอีสาน มีทั้งที่เป็นวรรณคดีพระพุทธศาสนา เช่น มหาเวสสันดรชาดก และชาดกเรื่องอื่นๆ วรรณคดีพิธีกรรม เช่น บททำขวัญต่างๆ นอกจากนี้มีวรรณคดีนิทาน วรรณคดีคำสอน และวรรณคดีตำนาน คำประพันธ์ที่ใช้ในวรรณคดีอีสานมีทั้งร่าย กาพย์ และโคลง


ภาพในวรรณคดีที่ใช้แคน แสดงให้เห็นวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน (ภาพจากหนังสือจิตรกรรมฝาผนังอีสาน)

            วรรณคดีมุขปาฐะของอีสานประเภทเพลงพื้นบ้าน ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นของเด็ก และเพลงร้องโต้ตอบกัน ระหว่างชายหญิง ที่เรียกว่า "หมอลำ" ซึ่งมีหลายทำนอง และมีเนื้อหาต่างๆ มีทั้งการให้คติคำสอนทางด้านศีลธรรมและจริยธรรม การเกี้ยวพาราสี และการนำเรื่องราวจากวรรณคดี มาถ่ายทอดเป็นเพลง โดยใช้แคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ในการบรรเลงประกอบ นิทานพื้นบ้านที่นิยมเล่าในภาคอีสาน มีหลายประเภท ที่เป็นตำนานเล่าถึงประวัติความเป็นมาของสถานที่ เช่น ตำนานหนองหาน ตำนานพระธาตุก่องข้าวน้อย เรื่องขำขันที่แพร่หลายมาก ได้แก่ เรื่องของเชียงเหมี้ยง ซึ่งมีเค้าโครงเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องเชียงเหมี้ยง ที่เล่าในล้านนา และเรื่องศรีธนญชัย ที่เล่าในภาคกลาง