การถ่ายทอดและการรับรสวรรณคดีท้องถิ่น
ปัจจุบัน วรรณคดีถ่ายทอดด้วยการเขียน และการพิมพ์เผยแพร่ ผู้อ่านส่วนใหญ่จะรับรสวรรณคดี ด้วยการอ่านในใจ ต่างกับสมัยก่อน ที่การถ่ายทอดวรรณคดี มีหลายลักษณะ วรรณคดีจำนวนมาก แต่งขึ้น สำหรับใช้เทศน์ บางเรื่องแต่งขึ้นสำหรับสวด บางเรื่องแต่งขึ้น เพื่อใช้ขับร้อง หรือเพื่อแสดง บางเรื่องใช้ในพิธีกรรม เช่น พิธีทำขวัญในโอกาสต่างๆ การเทศน์ การสวด และการขับร้องมีหลายทำนอง โดยเฉพาะการอ่านวรรณคดี ก็จะอ่านออกเสียง และมีทำนองในการอ่าน หลายทำนองขึ้นกับเนื้อหา ชาวบ้านส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็มีโอกาสได้รับรสวรรณคดี ด้วยการฟังพระเทศน์ หรือสวด ฟังนักร้องพื้นบ้าน นำบางตอนจากวรรณคดีมาขับร้อง และฟังผู้อื่นอ่านให้ฟัง ผู้ที่อ่านออกก็อาจยืมวรรณคดีจากวัด หรือจากญาติมิตรมาอ่าน แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ รับรสวรรณคดีด้วยการฟังผู้อื่นอ่าน การอ่านวรรณคดีสู่กันฟัง จึงนับเป็นความบันเทิง ที่สำคัญอย่างหนึ่ง สำหรับคนในท้องถิ่นสมัยก่อน
จิตรกรรมฝาผนังเรื่องศรีธนญชัย วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ