วรรณคดีไทยที่รู้จักแพร่หลาย
วรรณคดีไทยที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย มีที่มาจากวรรณคดีท้องถิ่นภาคกลาง เนื่องจากเป็นวรรณคดี ที่ใช้ภาษาไทยกลาง ในการสื่อสาร จึงมักถือเป็นตัวแทนของวรรณคดีในประเทศไทย และใช้เป็นแบบเรียนวิชาวรรณคดีไทย ในโรงเรียนทั่วประเทศ วรรณคดีภาคกลาง มีอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งแต่งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ต่างๆ กัน ในบางเรื่องแต่งขึ้นเพื่อเป็นคำสอน เช่น สุภาษิตสอนหญิง โคลงโลกนิติ กฤษณาสอนน้อง บางเรื่องแต่งขึ้น เพื่อให้ความรู้ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น มหาเวสสันดรชาดก ปฐมสมโพธิกถา และชาดกเรื่องอื่นๆ บางเรื่อง ก็เสนอเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ เช่น ลิลิตตะเลงพ่าย และสามกรุง บางเรื่องแต่งขึ้น เพื่อใช้ขับร้อง เป็นทำนอง หรือเพื่อประกอบการแสดง เช่น เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน บทละครเรื่องอิเหนา บทละครเรื่องรามเกียรติ์ บางเรื่องแต่งขึ้นสำหรับสวด เรียกว่า กลอนสวด บางเรื่องแต่งขึ้น เพื่อใช้ประกอบในพิธี เช่น ประกาศโองการแช่งน้ำ ซึ่งใช้ในพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา และบททำขวัญ ซึ่งใช้ในพิธีทำขวัญ ภาคกลางมีวรรณคดีนิราศจำนวนมาก กวีแต่งขึ้น เพื่อต้องการบรรยายอารมณ์ และความรู้สึก ที่ต้องจากคนรัก เพื่อเดินทางไปที่ใดที่หนึ่ง วรรณคดีภาคกลางแต่งขึ้น โดยใช้คำประพันธ์หลากหลาย ได้แก่ โคลง ร่าย ฉันท์ กาพย์ และกลอน วรรณคดีลายลักษณ์ของภาคกลาง ที่ยังไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ มีอยู่ในหอสมุดแห่งชาติอีกเป็นจำนวนมาก ส่วนเพลง และนิทาน ที่ถือว่า เป็นวรรณคดีมุขปาฐะของภาคกลาง ก็มีอยู่หลายประเภท เช่น เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นสำหรับเด็ก และเพลงสำหรับขับร้องเวลาที่ทำงานในทุ่งนา เช่น เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเต้นกำรำเคียว เพลงสงฟาง ฯลฯ นิทานภาคกลาง ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย เช่น เรื่องพญากงพญาพาน เรื่องตาม่องล่าย
จิตรกรรมฝาผนังเรื่อง มหาเวสสันดรชาดก วัดราชสิทธาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ
เนื่องจากวรรณคดีของภาคกลาง เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว ในที่นี้จึงจะให้รายละเอียด เกี่ยวกับวรรณคดีท้องถิ่นภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ซึ่งยังไม่ค่อยมีผู้รู้จักมากนัก