เล่มที่ 31
วรรณคดีท้องถิ่น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ความหมายของวรรณคดีท้องถิ่น

            วรรณคดีท้องถิ่น หมายถึง วรรณคดีที่แต่งขึ้น หรือเผยแพร่ อยู่ในท้องถิ่นต่างๆ ของไทย ซึ่งมีทั้งที่ถ่ายทอดด้วยปาก คือ เล่าหรือขับร้องเป็นเพลง เรียกว่า "วรรณคดีมุขปาฐะ" และที่ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือ เรียกว่า "วรรณคดีลายลักษณ์" ซึ่งแต่งเป็นรูปแบบร้อยแก้ว หรือร้อยกรอง ผู้แต่งส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่น เขียนหรือเล่า เพื่อสื่อเรื่องราวความคิด ความรู้สึกกับคนในท้องถิ่น ถ้อยคำภาษาที่ใช้จึงเป็นภาษาท้องถิ่น โดยทั่วไป แบ่งวรรณคดีท้องถิ่นออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ตามถ้อยคำภาษาที่ใช้เป็น ๔ กลุ่ม กล่าวคือ วรรณคดีภาคกลางใช้ภาษาไทยกลาง วรรณคดีล้านนาใช้ภาษาถิ่นเหนือ วรรณคดีอีสานใช้ภาษาอีสาน และวรรณคดีภาคใต้ก็ใช้ภาษาถิ่นใต้ หากเป็นวรรณคดีลายลักษณ์ ที่เขียนขึ้นในสมัยก่อน ก็มักใช้ตัวอักษรที่ใช้ในท้องถิ่นด้วย


วรรณคดีท้องถิ่นภาคต่างๆ

            วรรณคดีท้องถิ่นบางเรื่อง อาจมีที่มาหรือได้รับอิทธิพลบางส่วน มาจากวรรณคดีท้องถิ่นอื่น ซึ่งอยู่ใกล้เคียง และมีขนบธรรมเนียมประเพณีและภาษาคล้ายคลึงกัน นอกจากนี้ ยังอาจพบวรรณคดีท้องถิ่นในกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยโบราณ หรืออพยพเข้ามาภายหลัง ในแต่ละภาคของไทย เช่น ในภาคเหนือ มีวรรณคดี ของกลุ่มคนไทยลื้อ ไทยเขิน และไทยใหญ่ ในภาคอีสานทางใต้ มีวรรณคดีของกลุ่มชน ที่พูดภาษาส่วย ในภาคใต้มีวรรณคดี ของกลุ่มชนที่นับถือศาสนาอิสลาม และในภาคกลาง มีวรรณคดีของกลุ่มชนที่พูดภาษามอญ วรรณคดีของไทยโซ่งและไทยพวน