เล่มที่ 31
วรรณคดีท้องถิ่น
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การสร้างสรรค์วรรณคดีในท้องถิ่นภาคเหนือหรือล้านนา

            วรรณคดีลายลักษณ์ในล้านนามีอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในรูปเอกสารตัวเขียน คือ เป็นใบลาน และสมุดข่อย ตัวอักษรที่ใช้ในล้านนามี ๒ แบบ แบบหนึ่งคือ ตัวอักษร ที่ดัดแปลงจากอักษรมอญ ซึ่งเรียกว่า ตัวเมือง หรือ ตัวธรรม พบแพร่หลาย ในภาคอีสานของไทย ในประเทศลาว ในเชียงตุง ของประเทศพม่า และในสิบสองพันนา ของมณฑลหยุนหนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมักใช้เขียนเรื่องราว เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา อีกแบบหนึ่งคือ ตัวขอมเมือง หรือ ไทยนิเทศ เป็นตัวอักษร ที่รับมาจากอักษรสุโขทัย มักใช้เขียนเรื่องทางโลก


กฎหมายสมัยพญามังราย ที่บันทึกลงในสมุดสาด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา หรือตัวเมือง ซึ่งดัดแปลงมาจากอักษรมอญ

            วรรณคดีลายลักษณ์ยุคต้นของล้านนาเท่าที่พบ เขียนขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ. ๑๙๐๐ - ๒๑๐๐ โดยมักแต่งเป็นภาษาบาลี พระสงฆ์ในล้านนาสมัยก่อนมีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีมาก เรื่องที่แต่งเป็นภาษาบาลีมีหลายเรื่องที่สำคัญ ได้แก่ จามเทวีวงศ์ และ ชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยประวัติพระพุทธศาสนาในหริภุญชัยและในเชียงใหม่ จักรวาลทีปนี เป็นการประมวลความรู้ เกี่ยวกับจักรวาลและโลกตามคติพระพุทธศาสนา และ เวสสันตรทีปนี ซึ่งอธิบายเรื่องเวสสันดรชาดก ส่วนวรรณคดีที่แต่งเป็นภาษาท้องถิ่นในยุคนี้ ยังพบไม่มากนัก ที่น่าจะถือได้ว่าแต่งในยุคน ได้แก่ วรรณคดีคำสอนเรื่อง คำสอนพญามังราย วรรณคดีนิทานเรื่อง อุสาบารส และ นิราศหริภุญชัย คำสอนพญามังราย แต่งเป็นคำประพันธ์ประเภทร่าย เนื้อหาเป็นคติธรรมคำสอน สำหรับเจ้านายและคนทั่วไป เรื่องอุสาบารสเป็นนิทานที่รู้จักกันแพร่หลายทั้งในล้านนา และอีสาน แต่งเป็นโคลงสี่ดั้น เนื้อเรื่องรับมาจากวรรณคดีของอินเดีย ตัวละครเอกชื่อว่า ท้าวบารส กับนางอุสา ส่วนนิราศหริภุญชัย แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ บรรยายการเดินทางของกวี ซึ่งร่วมขบวนเกวียนจากเชียงใหม่ไปบูชาพระธาตุที่เมืองหริภุญชัย หรือลำพูนในปัจจุบัน กวีบรรยายสถานที่ต่างๆ และธรรมชาติที่ได้พบเห็นในขณะเดินทาง ควบคู่ไปกับพรรณนาความรักความอาลัยหญิงคนรัก ใช้ถ้อยคำภาษา ที่สื่อความหมายได้ชัดเจน เล่นเสียงเล่นคำอย่างไพเราะ

            ในช่วงประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๑ - ๒๓๑๗ อาณาจักรล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า วรรณคดีสำคัญในยุคนี้เท่าที่พบมีไม่มากนัก แต่ก็มีเนื้อหาหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบกับพม่า ได้แก่ เรื่อง โคลงมังทรารบเชียงใหม่ กล่าวถึง การเกิดสงครามกับพม่า และการกวาดต้อนผู้คนจากเชียงใหม่ไปพม่า นับเป็นบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ได้เรื่องหนึ่ง วรรณคดีเรื่องนี้ แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ กวีซึ่งคาดว่าเป็นชนชั้นสูงพรรณนาความรู้สึกเสียดายเมืองเชียงใหม่ ที่ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า และความยากลำบากขณะเดินทางได้อย่างซาบซึ้งกินใจ วรรณคดีเรื่องนี้ยังมีลักษณะเป็นนิราศด้วย เพราะกวีจะบรรยายสถานที่ ที่เดินทางผ่าน พร้อมกับพรรณนาความรักความอาลัยหญิงคนรัก ส่วน คร่าวซอสงคราม อโยธยาม่าน (พ.ศ. ๒๒๒๘) นับเป็นวรรณคดีที่แต่งด้วยคำประพันธ์ที่เรียกว่า คร่าวซอ ที่เก่าแก่ที่สุด เท่าที่พบในขณะนี้ วรรณคดีนิทานที่แต่งเป็นโคลงคือ โคลงพรหมทัต ซึ่งระบุว่า แต่งถวายเจ้านายฝ่ายหญิง และวรรณคดีนิราศคือ นิราศดอยเกิ้ง

            วรรณคดีคำสอนของล้านนาที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งคือ โคลงเจ้าวิทูรสอนโลก มีเนื้อหาสอนคนทุกระดับ แต่งเป็นโคลงสี่ แต่ไม่ปรากฏระยะเวลาแต่งที่ชัดเจน ภายหลัง มีผู้นำมาดัดแปลงโดยเปลี่ยนบทต้นและบทท้าย ตั้งชื่อใหม่ว่า โคลงพระลอสอนโลก ฉบับหนึ่ง อีกฉบับหนึ่งได้เพิ่มโคลงสามและโคลงสอง โดยเปลี่ยนชื่อเป็น โคลงเจ้าวิทูรสอนหลาน

            เมื่ออาณาจักรล้านนาได้เป็นอิสระจากพม่า และอยู่ในฐานะประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ การแต่งวรรณคดีโดยใช้คำประพันธ์รูปแบบคร่าวซอเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายเรื่อยมา จนกระทั่งถึงประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๐ วรรณคดีที่แต่งเป็นคร่าวซอ ส่วนใหญ่เป็นวรรณคดีนิทาน ประเภทนิทานมหัศจรรย์ มีอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งมุ่งให้คติธรรมทางพระพุทธศาสนาด้วย วรรณคดีประเภทนี้จะเน้นเรื่องกรรม แสดงให้เห็นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ตัวละครเอก ต้องผจญชะตากรรม ถูกกลั่นแกล้ง อาจต้องพลัดพรากจากพ่อแม่หรือคนรัก แต่ในที่สุด ก็ได้กลับมาพบกัน และได้ดี โดยได้เป็นเจ้าเมืองครองบ้านเมืองอย่างมีความสุข ในขณะที่ ตัวละครฝ่ายร้ายถูกลงโทษอย่างรุนแรง เรื่องที่แพร่หลาย มีทั้งที่เป็นนิทานชาดก จากนิบาตชาดกและปัญญาสชาดก เช่น เรื่อง ฉัททันต์ สุวรรณสาม พระสุธน สุทธนู สังข์ทอง นางสิบสอง นกกระจาบ (เรื่องสรรพสิทธิ์) วรรณคดีนิทานจำนวนมาก เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นใหม่โดยเลียนแบบชาดก เรื่องที่รู้จักกันแพร่หลาย คือ หงส์หิน ซึ่งโครงเรื่องคล้ายกับเรื่องสังข์ศิลป์ชัย นอกจากนี้มีเรื่องอื่นๆ เช่น เจ้าสุวัต จำปาสี่ต้น ก่ำกาดำ มูลละกิตติ บัวระวงศ์ แตงอ่อน ตัวละครเอกในบางเรื่องมีพ่อหรือแม่เป็นสัตว์ เช่น ช้างโพง นางผมหอม และ สุชวัณณะ นางเอกมีพ่อเป็นช้าง กำพร้าบัวตอง นางเอกมีแม่เป็นสุนัข ตัวละครเอกในบางเรื่องเป็นลูกของคนยากจน แต่ในภายหลังได้ดี เช่น เรื่อง อ้ายร้อยขอด กวีล้านนาบางคนใช้คำประพันธ์ที่เรียกว่า คร่าวซอ ในการแต่งวรรณคดี ที่มีเนื้อหาอย่างอื่น เช่น พญาพรหมโวหาร ใช้แต่งบทรำพันด้วยความเศร้าโศกเสียใจ ที่หญิงคนรักจากไป ที่รู้จักกันในชื่อ คร่าวสี่บท กวีบางคนใช้แต่งสดุดีเกียรติคุณ ของบุคคลสำคัญ เช่น คร่าวซอเจ้าราชวงศ์ คร่าวซอเรื่องพ่อเจ้าอินทวิชยานนท์กับราชเทวีทิพเกสร กวีในยุคนี้ที่รู้จักกันดี คือ พญาโลมาวิสัย และพญาพรหมโวหาร ซึ่งแต่งเรื่องหงส์หิน และคร่าวสี่บท


จิตรกรรมฝาผนัง เรื่องสุวรรณสามชาดก ในพระอุโบสถวัดบางยี่ขัน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

            เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมีเสด็จมาประทับที่จังหวัดเชียงใหม่ หลังจากการเสด็จสวรรคต ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ได้ทรงส่งเสริมให้มีการแต่งวรรณคดีบทละครเรื่อง น้อยไจยา โดยบทร้องเป็นร้อยกรองท้องถิ่น ต่อมามีการตั้งโรงพิมพ์ที่เชียงใหม่หลายแห่ง ทำให้วรรณคดีล้านนาแพร่หลายในช่วงเวลาหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก ไม่ได้มีการถ่ายทอดให้แก่เยาวชน จึงทำให้เยาวชนรุ่นหลัง มีโอกาสเรียนรู้วรรณคดี ในท้องถิ่นของตนน้อย

            วรรณคดีมุขปาฐะของล้านนาประเภทเพลงพื้นบ้านซึ่งยังสืบทอดมาถึงปัจจุบันนี้ ได้แก่ เพลงกล่อมเด็ก เพลงร้องเล่นของเด็ก และเพลงที่มีการร้องโต้ตอบกันระหว่างชายหญิง เรียกว่า "ซอ" พ่อเพลงแม่เพลงซึ่งเรียกว่า "ช่างซอชาย" และ "ช่างซอหญิง" จะขับร้อง โต้ตอบกันเป็นทำนองต่างๆ โดยมีเครื่องดนตรีที่ใช้เล่นประกอบคือ สะล้อและซึง บางจังหวัดมีปี่ด้วยเนื้อหาที่ซออาจเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับธรรมะ บางครั้ง ก็นำบางตอนจากวรรณคดีมาถ่ายทอด ช่างซอชายและหญิงจะสมมติตนเองเป็นตัวละครเอก ในวรรณคดีบางเรื่อง เช่น เรื่อง เจ้าสุวัต หงส์หิน สุธนมโนห์รา บัวระวงศ์ และขับร้องโต้ตอบกัน บางทีก็เป็นการเกี้ยวพาราสี เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม หรือล้อเลียนสังคม ส่วนนิทานพื้นบ้านก็มีอยู่หลายประเภท เช่น ตำนานสถานที่ ตำนานบุคคลสำคัญ นิทานที่นิยมเล่าสู่กันฟัง เช่น เรื่อง นางอุทธลา ซึ่งมีเนื้อเรื่องคล้ายคลึงกับเรื่องปลาบู่ทอง ของภาคกลาง นิทานที่มีเนื้อเรื่องขบขัน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมาก คือ เรื่อง เชียงเหมี้ยง ซึ่งเป็นเรื่องขำขัน มีจุดเด่นอยู่ที่ การเล่นคำ และแสดงไหวพริบคล้ายเรื่องศรีธนญชัย ของภาคกลางดังกล่าวแล้ว


จิตรกรรมฝาผนัง เรื่องหงส์หิน วัดพระธาตุสุโทนมงคลคีรี อ.เด่นชัย จ.แพร่ (ภาพจากสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ เล่ม ๑๒)