คุณค่าของวรรณคดีท้องถิ่น
วรรณคดีท้องถิ่นมีคุณค่าอย่างยิ่งต่อสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีต วรรณคดีท้องถิ่นมีบทบาทหน้าที่หลายประการในสังคม ดังจะกล่าวถึง เฉพาะบทบาทที่สำคัญดังนี้
๑. เป็นเครื่องบันเทิงใจ
วรรณคดีมุขปาฐะและวรรณคดีลายลักษณ์ในท้องถิ่น จัดว่า เป็นเครื่องบันเทิงใจ ที่สำคัญของคนในท้องถิ่นต่างๆ ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก นอกจากการฟังการขับร้อง และการเล่านิทานแล้ว ในท้องถิ่นต่างๆ ในสมัยก่อน ยังมีประเพณีการอ่านวรรณคดี สู่กันฟัง ซึ่งมีในหลายโอกาส เช่น ในยามพักผ่อนหลังจากการทำงาน ในขณะที่อยู่ร่วมเป็นเพื่อนเจ้าภาพในงานศพ ในระหว่างอยู่ไฟของหญิง ที่เพิ่งคลอดลูก ดังกล่าวข้างต้น ผู้ที่อ่านหนังสือออกจะอ่านวรรณคดีให้ผู้อื่นฟังเป็นทำนองเสนาะ กล่าวได้ว่า วรรณคดีเป็นเครื่องบันเทิงใจของคนในท้องถิ่น ทั้งในยามพักผ่อน ที่จิตใจเบิกบาน หรือในยามทำงานที่เคร่งเครียดคับขัน การเทศน์มหาชาติ ในท้องถิ่นต่างๆ เป็นทำนองต่างๆ ด้วยกระแสเสียงที่ไพเราะ นอกจากทำให้ผู้ฟังอิ่มเอิบใจ เพราะว่า ได้กุศลผลบุญแล้ว ยังเป็นเหมือนมหรสพ ให้ความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งของท้องถิ่น
๒. ให้ความรู้และคติในการดำเนินชีวิต
วรรณคดีท้องถิ่นส่วนใหญ่แต่งโดยผู้มีศรัทธาในศาสนา จึงมักชี้แนะแนวทาง การประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสังคม โดยสอนให้ยึดมั่นในศีลธรรม ปลูกฝังจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติ และความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม อย่างมีสันติสุข นอกจากนี้ วรรรณคดีท้องถิ่นบางเรื่อง ยังให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเพณีพิธีกรรม นับว่า มีบทบาทในการส่งเสริมให้ประเพณีและพิธีกรรมสำคัญของท้องถิ่นสืบทอดต่อไป
หมอขวัญผูกข้อมือคู่บ่าวสาว พร้อมกับกล่าวบททำขวัญแต่งงาน
๓. กระชับความสัมพันธ์ของคนในท้องถิ่น
การขับร้องเพลงพื้นบ้าน การเล่านิทาน และการอ่านวรรณคดีสู่กันฟัง จัดว่า เป็นเครื่องกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว และในชุมชนท้องถิ่นที่ดีอย่างหนึ่ง