แหล่งกำเนิดของดาวหาง
ดาวหางเกิดมาจากเนบิวลา (nebula) เดียวกันกับที่ก่อกำเนิดเป็นดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ และบริวารอื่นๆ ของดวงอาทิตย์ ส่วนใหญ่ของเนบิวลากลายเป็นดวงอาทิตย์ ส่วนเศษที่เหลือ กลายเป็นดาวเคราะห์ ซึ่งมี ๒ พวก คือ ดาวเคราะห์หิน (rocky planets) ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก และดาวอังคาร อีกพวกหนึ่งเป็น ดาวเคราะห์ยักษ์ (giant planets) ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน เศษเหลือจากการสร้างดาวเคราะห์ยักษ์ คือ ดาวหาง เศษวัตถุเหล่านี้ ถูกพลังงานของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ ผลักดันให้ออกไป ไกลจากดวงอาทิตย์ ประมาณพันเท่าของระยะทางดาวพลูโต อยู่บนทรงกลมที่เรียกว่า "ดงดาวหางของออร์ต" (Oort comet cloud) ทั้งนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่ยาน ออร์ต (Jan Oort) นักดาราศาสตร์ชาวดัตช์ ที่เสนอเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ เศษวัตถุดังกล่าว มีโอกาสชนกัน จนแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย กลายเป็นนิวเคลียสของดาวหางจำนวนหลายแสนล้านก้อน ในดงดาวหางของออร์ต
ภาพเขียนระบบสุริยะ แสดงดวงอาทิตย์สีเหลืองและดงดาวหางของออร์ตซึ่งมีดาวหางจำนวนล้านล้านดวง
ดาวหางคาบยาวซึ่งมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์นานกว่า ๒๐๐ ปี จะออกมาจาก ดงดาวหางของออร์ต แต่ดาวหางคาบสั้น ซึ่งมีวงโคจรน้อยกว่า ๒๐๐ ปี จะมาจากบริเวณ ที่อยู่เลยวงโคจรของดาวเนปจูนออกไปเป็นระยะหลายพันหน่วยดาราศาสตร์ เรียกว่า แถบคอยเปอร์ (Kuiper belt) เพื่อเป็นเกียรติแก่ เจอราร์ด พี. คอยเปอร์ (Gerard P. Kuiper) นักดาราศาสตร์ชาวดัตช์-อเมริกัน แถบคอยเปอร์เป็นแผ่นบางเหมือนขอบของจาน ไม่เป็นทรงกลมเหมือนดงดาวหางของออร์ต และวัตถุในแถบคอยเปอร์ด้านใน มีขนาดค่อนข้างใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับนิวเคลียสของดาวหาง กล่าวคือ มีเส้นผ่าศูนย์กลางเป็นพันกิโลเมตร ส่วนวัตถุขนาดเล็ก ในแถบคอยเปอร์ เป็นนิวเคลียสของดาวหางคาบสั้นดังกล่าว ดาวพลูโตมีลักษณะคล้ายวัตถุขนาดใหญ่ ในแถบคอยเปอร์