เล่มที่ 31
ดาวหาง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ดาวหางที่ปรากฏให้เห็นในประเทศไทย

            ในอดีตคงมีดาวหางหลายดวงที่คนไทยได้เห็น โดยเฉพาะในสภาพท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง ปราศจากแสงไฟฟ้ารบกวนอย่างเช่นในปัจจุบัน ย่อมเอื้ออำนวยต่อการดูดาวหาง ได้อย่างชัดเจน น่าเสียดายที่ยังไม่มีผู้ค้นพบหลักฐานการบันทึก หรือศิลาจารึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสมัยสุโขทัยและก่อนหน้านั้น แต่มีการกล่าวถึงดาวหางบางดวงที่ปรากฏให้เห็นในประเทศไทยสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ดังนี้

ดาวหางในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

            สมัยอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีดาวหางดวงใหญ่ดวงหนึ่งปรากฏให้เห็นเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๙ เป็นดาวหางที่มีผู้พบพร้อมกันในประเทศไทย และประเทศบราซิล ในเดือนกันยายนปีนั้น ศาสตราจารย์ ดร. ระวี  ภาวิไล เขียนไว้ในหนังสือ "ดาวหาง" ว่า "...ผู้พบอาจเป็นคนไทย หรืออาจเป็นพวกพระเยซูอิต จากฝรั่งเศส ซึ่งเคยนำกล้องดูดาวมาตั้งถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่พระราชวังลพบุรี เมื่อ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๒๒๘ ก็เป็นได้.."

ดาวหางกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

            สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงได้รับการเทิดพระเกียรติว่าเป็น "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" ได้ทรงออกประกาศเรื่อง "ประกาศดาวหางขึ้นอย่าให้วิตก" เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ ความว่า "ดาวดวงนี้ชาวยุโรปได้เห็นในยุโรปหลายเดือนแล้ว ดาวอย่างนี้มีคติ แลทางที่ดำเนินยาวไปในท้องฟ้า ไม่เหมือนดาวพระเคราะห์อื่น และดาวพระเคราะห์ทั้งปวง เป็นของสัญจรไปนานหลายปี แล้วก็กลับมาได้เห็นในประเทศข้างนี้อีก เพราะเหตุนี้ อย่าให้ราษฎรทั้งปวงตื่นกัน และคิดวิตกเล่าลือไปต่างๆ ด้วยว่ามิใช่จะเห็นแต่ในพระนครนี้ และเมืองที่ใกล้เคียงเท่านั้นมิได้ ย่อมได้เห็นทุกบ้านทุกเมือง ทั้งพิภพอย่างได้เห็นนี้แล"


พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "บิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" ที่อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์

            สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงออกประกาศดังกล่าว เพราะมีดาวหางดวงใหญ่ดวงหนึ่งปรากฏใน พ.ศ. ๒๔๐๑ ชื่อว่า ดาวหางโดนาติ (Donati) ซึ่งศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล ได้เขียนไว้ในหนังสือ "ดาวหาง" ว่าเป็นดาวหาง ที่นักดาราศาสตร์ชาวอิตาลีชื่อ โดนาติ ได้พบเห็นครั้งแรกที่เมืองฟลอเรนซ์ เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๑ ในระหว่างกลุ่มดาวสิงโตและกลุ่มดาวปู เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเป็นระยะทาง ๘๖.๕ ล้านกิโลเมตร เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๑ เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์รอบละ ๑,๙๕๐ ปี และเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วโลกเป็นเวลาหลายเดือน


ภาพวาดดาวหางโดนาติ ที่เห็นบนท้องฟ้าของกรุงปารีส เมื่อ ค.ศ. ๑๘๕๘ (พ.ศ. ๒๕๐๑) แสดงให้เห็นทางฝุ่นโค้งอย่างชัดเจน พร้อมหางแก๊ส ที่เป็นเส้นตรง ๒ หาง ดาวฤกษ์ที่เห็นใกล้หัวดาวหาง คือ ดาวดวงแก้ว

            ใน พ.ศ. ๒๔๐๔ เมื่อ ดาวหางเทบบุตต์ (Tebbutt) โคจรมาปรากฏ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศ ไม่ให้คนตกใจไว้ล่วงหน้าว่า "ถ้าใครเห็นอย่าให้ตกใจว่ากระไรวุ่นวายไป... คือว่า กลัวฝนแล้ง เมื่อฝนยังมีอยู่ก็ให้รีบทำนาเสีย... ให้จัดซื้อข้าวเตรียมเก็บไว้ให้พอกิน อย่าตื่นขายเสียนัก... ถ้ากลัวความไข้เกลือก...ยังไม่ได้ออกฝีดาษก็ให้รีบมาปลูกฝีดาษ..." นับเป็นประกาศฉบับที่ ๒ เกี่ยวกับดาวหางที่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่ปวงพสกนิกรชาวไทย


ดาวหางเทบบุตต์
(วาดโดย สุชาติ  เขียวลายเลิศ)

            ดาวหางเทบบุตต์เป็นดาวหางที่ค้นพบ โดย จอห์น เทบบุตต์ (John Tebbutt) ชาวออสเตรเลีย เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๔ เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์รอบละ ๔๐๙.๔ ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดประมาณ ๓.๓ ล้านกิโลเมตร และโลกเข้าไปในหาง ของดาวหางดวงนี้ ระหว่างวันที่ ๒๙ - ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔

            นอกจากดาวหางโดนาติและดาวหางเทบบุตต์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรและทรงออกประกาศ แก่พสกนิกรแล้ว ยังมีดาวหางอีกดวงหนึ่งที่มาปรากฏ ในขณะที่พระองค์ยังทรงพระเยาว์คือ ดาวหางฟลูเกอร์กูส์ (Flaugergues) ปรากฏให้เห็น เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๓ ในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ซึ่งขณะนั้น พระองค์มีพระชนมายุเพียง ๖ พรรษา ดาวหางฟลูเกอร์กูส์นี้ ศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล ได้เขียนอธิบายไว้ในหนังสือ "ดาวหาง" ว่า "ชาวฝรั่งเศสชื่อฟลูเกอร์กูส์ เป็นผู้ค้นพบ เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน (โดยอยู่ห่าง ๑๕๐ ล้านกิโลเมตร และเคลื่อนรอบดวงอาทิตย์รอบละ ๓,๐๙๔ ปี) ต่อมา ได้อยู่บนท้องฟ้าให้ชาวโลกได้เห็น ในที่ต่างๆ จนถึงวันที่ ๒๐ มกราคม ค.ศ. ๑๘๑๒  (พ.ศ. ๒๓๕๕) นับว่า เป็นดาวหางที่ชาวโลกได้เห็นอยู่เป็นเวลานาน และโดยทั่วไปด้วย"