เล่มที่ 31
ดาวหาง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
ทางโคจรของดาวหางฮัลเลย์เปรียบเทียบกับทางโคจรของดาวเคราะห์

            โลกและดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ เคลื่อนที่ รอบดวงอาทิตย์ไปในทางเดียวกัน คือ จากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก และระนาบทางโคจร ของดาวเคราะห์เอียงเป็นมุมน้อยๆ กับระนาบทางโคจรของโลก ดาวเคราะห์จึงปรากฏอยู่ใกล้ๆ เส้นทางที่ดวงอาทิตย์ผ่าน ซึ่งเรียกว่า สุริยวิถี บางครั้งดาวเคราะห์จะอยู่บนเส้นนี้ได้ด้วย แต่ดาวหางฮัลเลย์มีระนาบทางโคจร เอียงประมาณ ๑๖๒ องศา กับระนาบทางโคจรของโลก ดังนั้น เมื่อเทียบกับวงโคจร ของดาวเคราะห์ จึงเห็นว่า ดาวหางฮัลเลย์วิ่งสวนทาง คือ เคลื่อนที่จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ อยู่ใต้ระนาบทางโคจรของโลก และเนื่องจาก วงโคจรของดาวหางฮัลเลย์เป็นรูปรีมาก ทำให้จุดศูนย์กลางของวงโคจรอยู่ห่างจุดโฟกัส ซึ่งดวงอาทิตย์อยู่ เป็นระยะทาง ae เท่ากับ ๑๗.๓๕๑๙ หน่วยดาราศาสตร์ ดังนั้น เมื่ออยู่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุด จะห่างจากดวงอาทิตย์ เป็นระยะทาง a + ae หรือ ๓๕.๒๙๑ หน่วยดาราศาสตร์ นั่นคือ ใกล้กว่าระยะของดาวพลูโต แต่ไกลกว่าระยะของดาวเนปจูน ในขณะที่ ระยะใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดคือ a - ae มีระยะทาง เท่ากับ ๐.๕๘๗ หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ ๑๑๕ ล้านกิโลเมตร ซึ่งอยู่ระหว่าง วงโคจรของดาวพุธกับดาวศุกร์ เป็นที่น่าสังเกตว่า จุดที่ดาวหางฮัลเลย์เคลื่อนที่ผ่าน จากใต้ระนาบทางโคจรของโลกไปเหนือระนาบทางโคจรของโลก ที่เรียกว่า จุดโหนดขึ้นกับจุดโหนดลง (descending node) คือ จุดที่ดาวหางเคลื่อนที่ จากเหนือระนาบทางโคจรของโลก ไปใต้ระนาบทางโคจรของโลก จุดโหนดทั้งสองเป็นจุดที่อยู่ใกล้ๆ กับทางโคจรของโลก


ตำแหน่งของดาวหางฮัลเลย์เทียบกับโลก