ชะตากรรมของดาวหางและกำเนิดฝนอุกกาบาต
ทุกครั้งที่ดาวหางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ ดาวหางจะสูญเสียเนื้อสารไปเป็นจำนวนไม่น้อย เพราะทั้งหัว และหางเป็นแก๊สกับฝุ่นที่ไม่กลับไปรวมเป็นนิวเคลียส แต่จะเคลื่อนที่เป็นเมฆฝุ่นไปตามเส้นทางโคจร ของดาวหางดวงนั้น ถ้าดาวหางดวงใดมีทางโคจรผ่านใกล้ หรือตัดกับทางโคจรของโลก เมฆฝุ่นของดาวหางก็จะอยู่ในเส้นทางที่โลกผ่าน เมื่อโลกผ่านเข้าไปในบริเวณนั้น โลกก็จะดึงฝุ่นให้ตกเข้าสู่บรรยากาศโลก ทำให้ฝุ่นเสียดสีกับบรรยากาศ และเกิดเป็นแสงวูบวาบจำนวนมาก เรียกว่า ฝนอุกกาบาต ซึ่งเกิดในระดับสูงประมาณ ๘๐ กิโลเมตร ทางโคจรของดาวหางฮัลเลย์ ผ่านใกล้ทางโคจรของโลกเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม และ ๒๒ ตุลาคม ทุกปี จึงเกิดฝนอุกกาบาตในวันที่ ๔ พฤษภาคม เรียกว่า ฝนอุกกาบาตเอตา-กุมภ์ (h - Aquarids) และ ฝนอุกกาบาตนายพราน (Orionids) ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม
ดาวหางเทมเพล-ทัตเทิล (Tempel - Tuttle) มีทางโคจรตัดกับทางโคจรของโลกในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน จึงเกิดฝนอุกกาบาต ในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ทุกปี เรียกว่า ฝนอุกกาบาตสิงโต (Leonids) เพราะจุดกำเนิดออกจากกลุ่มดาวสิงโตตรงบริเวณหัวสิงโต
ดาวหางสวิฟต์-ทัตเทิล (Swift - Tuttle) มีทางโคจรตัดกับทางโคจรของโลกในวันที่ ๑๒ สิงหาคม จึงเกิด ฝนอุกกาบาตเพอร์เซอิดส์ (Perseids) ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ของทุกปี
ใจกลางหัวดาวหางฮัลเลย์เล็กลงทุกๆ ครั้งที่ผ่านเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ความหนาของพื้นผิวจะหายไปครั้งละ ประมาณ ๑ เมตร มวลสารจึงหายไปร้อยละ ๐.๑ - ๑ ของมวลสารทั้งหมดต่อครั้งที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากดาวหางไม่มีแก๊สและฝุ่นที่จะหลุดลอยออกไป จากใจกลางหัว ดาวหางอาจกลายเป็นดาวเคราะห์น้อยหรือแตกสลาย เป็นหลายชิ้นก็ได้