อันดับความสว่างและระยะห่างของดาวหาง
อาริสโตเติล (Aristotle) นักปราชญ์ชาวกรีกในสมัยโบราณ เชื่อว่า ดาวหาง เป็นดาวที่เข้ามา ในบรรยากาศโลก แต่ทิโค บราอี(Tycho Brahe) นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก ผู้มีอุปกรณ์วัดตำแหน่งดาว ที่ละเอียดก่อนยุคของการมีกล้องโทรทรรศน์ ได้พิสูจน์ว่า ดาวหาง อยู่ห่างโลกกว่า ๔ เท่าของระยะดวงจันทร์ ปัจจุบันเราทราบว่าดาวหางดวงหนึ่งๆ จะอยู่ห่างจากโลกไม่คงที่ แต่ไม่เข้ามาถึงบรรยากาศโลก ยกเว้นเมื่อดาวหางชนโลก หรือเฉียดโลก
สำหรับอันดับความสว่างหรือแมกนิจูด (magnitude) ของดาวหาง จะอาศัยอันดับความสว่างของดาวฤกษ์เป็นสิ่งเปรียบเทียบ โดยใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดาวฤกษ์ที่ทราบอันดับความสว่าง แล้วปรับเลนส์ใกล้ตา (eyepiece) ของกล้อง เพื่อให้ภาพดาวฤกษ์ในกล้องไม่เป็นจุด แต่เป็นดวงพร่าๆ คล้ายดาวหาง อันดับความสว่างเป็นตัวเลขที่บอกให้ทราบว่า เราจะสามารถมองเห็นดาวด้วยตาเปล่าได้หรือไม่ โดยมีหลักว่า ดาวที่มีอันดับความสว่างที่เป็นตัวเลขน้อยๆ สว่างกว่าดาวที่มีอันดับความสว่าง ที่เป็นตัวเลขมากๆ และดาวริบหรี่ที่สุด ที่พอมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในสภาพท้องฟ้ากลางคืน ที่ปลอดโปร่งแจ่มใส ไร้เมฆ ปราศจากแสงไฟและแสงจันทร์รบกวน จะมีอันดับความสว่าง ๖ ดาวที่เราเห็นสว่างมากๆ บนฟ้า เช่น ดาวศุกร์เมื่อสว่างที่สุด จะมีอันดับความสว่าง -๔.๕ ดวงจันทร์ในวันเพ็ญมีอันดับความสว่าง -๑๒.๖ และดวงอาทิตย์มีอันดับความสว่าง -๒๖.๘ ดังนั้น ดาวหางที่จะเห็นได้ด้วยตาเปล่าจึงต้องมีอันดับความสว่างเป็นตัวเลขน้อยๆ หรือเป็นลบ