เล่มที่ 31
ดาวหาง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
องค์ประกอบทางโคจรของดาวหาง

            ในการตรวจสอบว่า ดาวหางที่ค้นพบใหม่เป็นดาวหางดวงเดิมที่เคยค้นพบมาก่อนหรือไม่ นักดาราศาสตร์จะพิจารณาจากองค์ประกอบของทางโคจรของดาวหางดวงนั้น ซึ่งจะบอกให้ทราบว่า ดาวหางเคลื่อนที่เป็นวงรีขนาดใด เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เป็นระยะทางเท่าใด เมื่อใด จุดเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด อยู่ห่างจากจุดโหนดขึ้น (ascending node) เท่าใด ระนาบทางโคจรของดาวหาง เอียงเป็นมุมเท่าใด กับระนาบทางโคจรของโลก รอบดวงอาทิตย์ จุดโหนดขึ้นอยู่ห่างกี่องศาจากจุดเวอร์นัลอิควินอกซ์ (vernal equinox) และถ้าเป็นดาวหางคาบสั้น ก็จะระบุคาบ ของการโคจร พร้อมความยาวของครึ่งแกนยาว ของวงโคจรที่เป็นรูปวงรีด้วย

            ความรีของวงโคจรของดาวหางจะบอกให้ทราบว่าวงโคจรเป็นรูปแบบใด ถ้าความรีมีค่าน้อยกว่า ๑ วงโคจรจะเป็นรูปวงรี หรือเอลลิปส์ (ellipse) อย่างเช่น ดาวหางฮัลเลย์ ถ้าความรีเป็น ๑ วงโคจรจะเป็นรูปพาราโบลา (parabola) และถ้าความรีมากกว่า ๑ วงโคจรจะเป็นรูปไฮเพอร์โบลา (hyperbola)


วงรีเป็นรูปภาคตัดขวางของกรวยแหลม โดยตัดข้างกรวยแบบเอียง (ดังรูป) ถ้าตัดตามแนวขนานกับฐานกรวยจะเป็นรูปวงกลม ซึ่งมีความรีเท่ากับ ๐ ถ้าตัดเอียงผ่านฐานด้วย จะได้รูปพาราโบลา และถ้าตัดตั้งฉากกับฐานจะได้รูปไฮเพอร์โบลา