เล่มที่ 31
ดาวหาง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

ดาวหางดวงสำคัญ


            ดาวหางดวงสำคัญ ได้แก่ ดาวหางที่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ชัดเจน และมีผู้คนจำนวนมากทั่วโลกได้สัมผัส ดาวหางที่สำคัญดวงหนึ่ง คือ ดาวหางฮัลเลย์ เป็นดาวหางที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และได้ชื่อว่าเป็น "ราชาของดาวหาง" ทั้งนี้เพราะมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน เกี่ยวข้องกับผู้คนมาหลายยุคหลายสมัย เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า ดาวหางที่เห็นใน พ.ศ. ๒๐๗๔ พ.ศ. ๒๑๕๐ และ พ.ศ. ๒๒๒๕ คือ ดาวหางดวงเดียวกันที่เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์รอบละประมาณ ๗๖ ปี เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ได้ทำนายไว้ใน พ.ศ. ๒๒๔๘ ว่า ดาวหางดวงใหญ่ที่เห็นใน พ.ศ. ๒๒๒๕ จะปรากฏอีกใน พ.ศ. ๒๓๐๑ หรือต้น พ.ศ. ๒๓๐๒ ครั้นถึงปลาย พ.ศ. ๒๓๐๑ ดาวหางก็มาปรากฏจริงๆ ในเวลานั้น เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ ได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ๑๖ ปี แต่ผู้คนยังจำได้ ดังนั้น ดาวหางดวงใหญ่จึงได้ชื่อว่า ดาวหางฮัลเลย์ ตั้งแต่นั้นมา ดาวหางฮัลเลย์ได้โคจรมาให้คนในโลกได้เห็นใน พ.ศ. ๒๓๗๘ พ.ศ. ๒๔๕๓ และ พ.ศ. ๒๕๒๙ ดังกล่าวแล้ว


ดาวหางฮัลเลย์

            จากการโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เมื่อต้น พ.ศ. ๒๕๒๙ นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาดาวหางฮัลเลย์อย่างกว้างขวาง มีการประสานงานติดตามดาวหางฮัลเลย์ระหว่างประเทศ ใน โครงการไอเอชดับเบิลยู (International Halley Watch) รวมทั้งการสำรวจโดยอาศัยยานอวกาศด้วย ได้แก่ ยานอวกาศจอตโต (Giotto) ขององค์การอวกาศยุโรป ที่ส่งยานผ่านเข้าไปในหัวของดาวหาง จนสามารถถ่ายภาพใจกลางของหัวดาวหางฮัลเลย์ได้ จากระยะ ๖๐๐ กิโลเมตร (จอตโตเป็นจิตรกรชาวอิตาลี  ผู้มีความประทับใจดาวหางฮัลเลย์ ซึ่งปรากฏให้เห็น เมื่อ ค.ศ. ๑๓๐๑ (พ.ศ. ๑๘๔๔) ได้วาดรูป "Adoration  of the Magi" โดยมีภาพดาวหางเป็นดาวแห่งเบทเลเฮมอยู่ในภาพด้วย เมื่อ ค.ศ. ๑๓๐๔ (พ.ศ. ๑๘๔๗)) ยานอวกาศวีกา (Vega) ของสหภาพโซเวียต และ ยานพลาเนต เอ (Planet A) ของญี่ปุ่น ก็เข้าร่วมสำรวจดาวหางฮัลเลย์ในระยะใกล้ด้วย

            ดาวหางดวงสำคัญที่นำความตื่นเต้นมาสู่ชาวโลกเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ ดาวหางเฮียะกุตาเกะ (Hyakutake) ซึ่งปรากฏให้เห็น แม้แต่ในเมืองใหญ่ๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๙ และ ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale-Bopp) ใน พ.ศ. ๒๕๔๐ ดาวหางดวงหลังนี้ มีขนาดใหญ่กว่าดวงแรก

            ดาวหางทั้งสองดวงเข้ามาจากแดนไกล จึงเป็นดาวหางคาบยาว หอสังเกตการณ์โซโห (SOHO ย่อมาจาก Solar and Heliospheric Observatory) ได้ถ่ายภาพดาวหางเฮียะกุตาเกะ ขณะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ เวลา ๐๓.๐๑ น. (เวลาสากล) ซึ่งไม่อาจสังเกตได้จากโลก


ดาวหางเฮียะกุตาเกะ

            นอกจากนี้ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) ยังได้บันทึกภาพหัวของดาวหางทั้งสอง เมื่อเปรียบเทียบกับภาพของดาวหางฮัลเลย์ในระยะทางเดียวกัน ทำให้นักดาราศาสตร์คาดคะเนได้ว่า ดาวหางเฮล-บอปป์ เป็นดาวหางที่มีใจกลางหัวใหญ่ที่สุด มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๔๐ กิโลเมตร



ดาวหางเฮล-บอปป์

            โดยปกติจะมีดาวหางดวงใหญ่ หรือดวงสำคัญปรากฏให้เห็นทุกๆ ประมาณ ๑๐ ปี ก่อนหน้าที่ดาวหางฮัลเลย์จะปรากฏ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้มีดาวหางดวงใหญ่ดวงหนึ่งชื่อว่า ดาวหางเวสต์ ปรากฏใน พ.ศ. ๒๕๑๙ และ ดาวหางอิเคยา-เซกิ (Ikeya - Seki) ใน พ.ศ. ๒๕๐๘