เล่มที่ 31
ดาวหาง
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การสังเกตการณ์ดาวหางฮัลเลย์ ดาวหางเฮียะกุตาเกะ และดาวหางเฮล-บอปป์

            ปัจจุบันเมื่อมีข่าวการค้นพบดาวหางดวงใหม่ที่พอจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า คนไทยจะให้ความสนใจมาก โดยเฉพาะในโอกาส ที่ดาวหางฮัลเลย์กลับมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ เยาวชนตลอดทั้งผู้ใหญ่ทุกระดับได้ ติดตาม และตื่นเต้นกันมากเป็นพิเศษ เพราะมีเวลาเตรียมตัวล่วงหน้า โดยรู้วันเวลาที่ดาวหางจะปรากฏชัดเจน ณ ที่ต่างๆ ในช่วงนั้น ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ซึ่งมีหน้าที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ ทางด้านดาราศาสตร์ ได้จัดกิจกรรมหลายอย่างที่เกี่ยวกับดาวหางฮัลเลย์เกือบตลอดทั้งปี เช่น การแสดงทางท้องฟ้าเรื่อง ดาวหางฮัลเลย์ ในห้องฉายดาว การจัดนิทรรศการเรื่องดาวหางฮัลเลย์ การบรรยาย และการตั้งกล้องโทรทรรศน์ เพื่อดูดาวหางฮัลเลย์สำหรับประชาชน ณ ที่ต่างๆ สื่อมวลชนทุกสาขานำเรื่องดาวหางฮัลเลย์ ออกเผยแพร่อย่างกว้างขวาง นอกจากท้องฟ้าจำลองฯ แล้ว ยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่ตอบสนอง ความอยากรู้อยากเห็นดาวหางฮัลเลย์ ของคนไทยทั่วประเทศ อาทิ สมาคมดาราศาสตร์ไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช ตลอดจน ผู้ที่มีกล้องสองตา และกล้องโทรทรรศน์โดยทั่วไป นับว่า ดาวหางฮัลเลย์ได้ช่วยกระตุ้นเยาวชนไทยให้สนใจดาราศาสตร์มากยิ่งขึ้น


ดาวหางฮัลเลย์ ที่ ศ.ดร. ระวี  ภาวิไล บันทึกภาพได้ที่แคมป์สน เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

            ผลพลอยได้จากการกลับมาของดาวหางฮัลเลย์ครั้งสุดท้าย ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อม ในการติดตามดาวหางมากขึ้น เช่น มีอุปกรณ์ในการบันทึกและเผยแพร่ดีขึ้น มีผู้สนใจ และถ่ายภาพดาวหางได้ในระดับนานาชาติ ทั้งในองค์กรของรัฐและเอกชน จำนวนมากขึ้น ทำให้ได้ภาพดาวหางเฮียะกุตาเกะ และดาวหางเฮล-บอปป์ ในบรรยากาศของประเทศไทยหลายภาพ เช่น ภาพดาวหางเฮล-บอปป์และศาลาการเปรียญ ของวรวิทย์ และเอกชัย ตันวุฒิบัณฑิต ภาพดาวหางเฮล-บอปป์ และพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ของจันที วินทะไชย์