เล่มที่ 5
ไม้ผล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การให้น้ำและระบายน้ำ

            น้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต หรือการดำรงชีพของต้นไม้ เพราะน้ำเป็นตัวทำละลายที่ช่วยละลายแร่ธาตุอาหารในดิน และเป็นตัวกลางนำธาตุอาหารเข้าสู่ส่วนต่างๆ ของพืช นอกจากนี้น้ำยังเป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์แสง ตลอดจนช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้ดินอ่อนนุ่ม และร่วนซุย ช่วยรักษาอุณหภูมิของดินให้พอเหมาะไม่ร้อนจัด หรือเย็นจัดจนเกินไป ทำให้อินทรียวัตถุสลายตัว และเกื้อกูลจุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์แก่พืชให้มีชีวิตอยู่ได้

            น้ำที่พืชดูดได้จากดินนั้นส่วนใหญ่จะสูญเสียไปในอากาศในรูปของการคายไอน้ำ จะถูกนำไป
สร้างเป็นส่วนประกอบของสารเคมีเพียง ๐.๑-๐.๓% เท่านั้น

ความต้องการน้ำของพืช

            โดยปกติน้ำเข้าสู่พืชโดยทางราก ในบางโอกาสเท่านั้นที่พืชอาจได้น้ำทางใบ น้ำเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์พืช ในส่วนต่างๆ ของพืชจะมีน้ำโดยประมาณ ดังนี้ คือ ใบ ๓๕-๙๕% ราก ๖๐-๙๐% เนื้อของผล ๗๐-๙๐ % เนื้อไม้ ๓๘-๖๕% และเมล็ดแห้ง ๑๐-๒๐%

ระบบการให้น้ำแบบหยด

การดูดน้ำของพืช

            การดูดน้ำของพืช ส่วนใหญ่จะผ่านทางขนราก กล่าวคือ เมื่อพืชสูญเสียน้ำไปโดยการคายไอน้ำจากใบ จะทำให้เกิดความต่างศักย์น้ำ (water potential difference) ขึ้น เป็นเหตุให้เกิดการเคลื่อนที่ของน้ำในดินเข้าไปภายในเซลล์ของรากได้
การตรวจความชื้นในดิน

การจะให้น้ำแก่พืชเมื่อไรนั้นมีหลักในการพิจารณา เพื่อทราบปริมาณน้ำในดินดังต่อไปนี้

            ๑. การวัดความชื้นในดิน โดยการใช้เครื่องมือโดยเฉพาะ

            ๒. สังเกตอาการของพืช ตามปกติการทำสวนผลไม้ไม่นิยมการสังเกตอาการขาดน้ำโดยดูจากอาการของพืช อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตหลายอย่างเกี่ยวกับอาการขาดน้ำในพืช อาการขาดน้ำของพืชแสดงออกมาในรูปต่างๆ กัน เช่น ปลายใบแห้ง ใบร่วง ใบหงิกหรือห่อ เป็นต้น

            ๓. การดูลักษณะดิน การดูลักษณะ หรือการสัมผัสดินด้วยมือ เป็นวิธีประมาณหาความชื้นในดินได้อีกวิธีหนึ่ง เป็นการตรวจดูสมบัติทางกายภาพบางอย่าง เช่น ความเหนียว ความอ่อนนุ่ม เป็นต้น

            ๔. พิจารณาโดยปริมาณน้ำฝน เราควรจะทราบปริมาณน้ำฝนในเดือนต่างๆ เพื่อใช้กะเวลาการให้น้ำ ในบ้านเราในหน้าฝนอาจไม่จำเป็นต้องให้น้ำ เพราะฝนตกครั้งหนึ่งก็อยู่ได้นานพอ

ระบบการให้น้ำแบบหยด

ระบบการให้น้ำ

            การให้น้ำแบ่งออกได้ เป็น ๓ วิธี คือ การให้น้ำทางผิวดิน การให้น้ำโดยซึมจากใต้ดิน และการให้น้ำแบบพ่นเหนือดิน การ จะให้น้ำวิธีไหนกับสวนผลไม้นั้น ต้องคำนึงถึงระดับของผิวดิน ลักษณะของดิน ตลอดจนลักษณะแถวของต้นไม้ และค่าใช้จ่ายในการให้น้ำ

            ๑. การให้น้ำทางผิวดิน

            เป็นวิธีการให้น้ำที่ใช้กันมาก่อนวิธีอื่นใด โดยปล่อยน้ำไปบนผิวดินที่เราปลูกพืช แบ่งออกเป็นแบบย่อยๆ ได้อีกคือ

            ๑.๑ ปล่อยท่วมแปลง เป็นการให้น้ำแบบปล่อยท่วมแปลง อาจปล่อยจากคลองโดยตรง หรือปล่อยจากคูย่อย บางทีแบ่งสวนออกเป็นตอนๆ และมีคันแบ่งพื้นที่เป็นผืนยาวๆ หรืออาจทำคัน เฉพาะ ๑ หรือ ๒ ต้น

            ๑.๒ ปล่อยไปตามร่องคู เป็นการให้น้ำโดยจ่ายไปตามร่องคู คือ ปล่อยน้ำจากท่อใหญ่ ให้ไหลไปตามร่องคูที่ทำไว้ระหว่างแถวพืช จำนวนร่องจะมีมากน้อยแล้วแต่ระยะระหว่างแถว ถ้าแถวห่างก็อาจทำร่องหลายๆ ร่อง ในสวนโดยทั่วไปนิยมใช้ท่ออะลูมิเนียมที่มีรูปิดเปิด แบบโยกย้ายได้ เพราะสะดวกในการขนย้าย

            ๑.๓ การให้น้ำแบบหยด เป็นการให้น้ำโดยผ่านทางท่อขนาดจิ๋ว (เส้นผ่าศูนย์กลาง ๐.๐๓๕ นิ้ว) หลักการก็มีอยู่ว่า น้ำจะถูกปล่อยออกจากถังซึ่งสามารถควบคุมระดับให้คงที่ได้ น้ำจะผ่านมาตามท่อกลาง แล้วแยกเข้าท่อที่มีขนาดเล็กลง และไปออกที่ท่อขนาดจิ๋ว วิธีการให้น้ำแบบนี้ ประหยัดน้ำได้มาก และเป็นการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์เต็มที่ เพราะท่อขนาดจิ๋วจะอยู่บนผิวดินใกล้ๆ โคนต้นไม้ เวลาน้ำไหลหยดลงมาก็เปียกเฉพาะบริเวณรากเท่านั้น ต้นหนึ่งอาจใช้ท่อขนาดจิ๋ว ๒ ท่อ ข้อเสียของการให้น้ำโดยวิธีนี้ก็คือ จะต้องมีระบบกรองน้ำที่มีประสิทธิภาพ มิฉะนั้นแล้วท่อขนาดจิ๋ว จะอุดตัน

            ๒. การให้น้ำโดยซึมจากใต้ดิน

            เป็นการให้น้ำทางใต้ดินในระดับใดระดับหนึ่งที่เรากำหนดให้ ซึ่งน้ำจะซึมสู่รากพืชได้สะดวก ในการให้น้ำแบบนี้ ดินสวนควรมีเนื้อดินสม่ำเสมอ น้ำซึมผ่านง่าย พื้นที่ใกล้เคียงควรได้ระดับ

            ๓. การให้น้ำแบบพ่นเหนือดิน

            การให้น้ำเหนือดินอาจทำได้หลายอย่างด้วยกัน เช่น ใช้บัวรด น้ำ แครง แต่ที่สำคัญ คือ การให้น้ำแบบฝนเทียม (sprinkling) คือ ฉีดเป็นฝอยคล้ายฝน คลุมเนื้อที่เป็นแห่งๆ ไป การให้น้ำแบบฝนเทียมมีส่วนประกอบที่ สำคัญ คือ หัวพ่นน้ำ (sprinkler) ซึ่งเป็นตัวจ่ายน้ำ แบ่งออกได้เป็น ๓ แบบด้วยกัน คือ

            ๓.๑ แบบที่มีหัวฉีดติดตายอยู่กับท่อน้ำ หมุนไม่ได้ การติดหัวฉีดแบบนี้จึงควรเลือกขนาดที่พอดี และติดไว้ตามระยะต่างๆ ที่ต้องการ แบบนี้นิยมใช้กันมากในสถานเพาะชำ

            ๓.๒ แบบที่มีรูพ่นน้ำตามด้านข้าง น้ำก็จะถูกฉีดออกตามรูพรุนเหล่านี้

            ๓.๓ แบบที่มีหัวหมุนได้รอบตัว และอาจตั้งให้ทำมุมเท่าใดก็ได้ นิยมใช้กันในสวนผลไม้ เพราะมีหลายขนาดสามารถเลือกได้ตามต้องการ

การให้น้ำแบบพ่นเหนือดิน หัวฉีดหมุนได้รอบตัว

            ระบบการให้น้ำแบบฝนเทียม จะบังคับด้วยแรงดันต่างกันตั้งแต่ ๕ ปอนด์ต่อตารางนิ้วจน ถึงมากกว่า ๑๐๐ ปอนด์ต่อตารางนิ้ว ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของหัวพ่นน้ำ และเนื้อที่ที่ต้องการให้น้ำ ตลอดจนระยะระหว่างหัวฉีด

การระบายน้ำ

            ในการให้น้ำสวนผลไม้ หรือเวลามีฝนตกหนัก บริเวณสวนอาจมีน้ำมากเกินต้องการ โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นที่อยู่ของราก จะมีน้ำขังอยู่มาก ถ้าเราไม่รีบระบายน้ำที่มากเกินไปออกเสีย จะทำให้การเจริญเติบโตของต้นไม้ชะงัก และจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดินอาจได้รับอันตราย สวนผลไม้บางแห่งอาจมีระดับน้ำใต้ดินตื้นเกินไป จำเป็นต้องลดระดับน้ำลง เพื่อให้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืช และถ้ามีเกลืออยู่ใต้ดินด้วยแล้ว ระดับน้ำใต้ดินที่เกินพอดีจะทำให้เกลือซึมขึ้นมาจับบนหน้าดินได้มาก ฉะนั้นจึงควรควบคุมระดับน้ำให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะโดยการระบายน้ำทิ้ง

การส่งน้ำโดยใช้ท่อไม้ไผ่ ในเขตพื้นที่ภูเข

            การระบายน้ำในสวนผลไม้ อาจทำได้โดย ผ่านทางร่องหรือคูบนผิวดิน หรือระบายผ่านท่อที่ ฝังอยู่ใต้ดิน การจะใช้วิธีไหนนั้นจะต้องพิจารณา ลักษณะของดินว่าเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนที่น้ำซึม ได้ง่าย ในบ้านเรานิยมระบายน้ำโดยผ่านไปตามร่อง หรือคู การทำสวนผลไม้แบบยกร่องเขาจะทำคันกั้นล้อมรอบสวนเป็นขนัดๆ ไป ทั้งนี้เพื่อสามารถควบ คุมระดับน้ำในท้องร่องของแต่ละแปลง ถ้าระดับ น้ำในท้องร่องสูงเกินพอดีเขาก็จะสูบน้ำออกทิ้ง สวนผลไม้บนเนินลาดมักมีปัญหาเกี่ยวกับน้ำเซาะ ดิน เวลามีฝนตกหนัก จึงควรปลูกแถวต้นไม้ให้ ขวางกับทางเดินของน้ำ และทำทางระบายไว้เป็น ตอนๆ เช่น อาจทำร่องใหญ่ไว้เป็นหลักแล้วมีร่อง เล็กๆ เชื่อมโยงอีกที เมื่อน้ำไหลผ่านทางร่องเล็ก ก็จะมารวมกันในร่องใหญ่แล้วระบายทิ้งตามทิศทาง ที่เราต้องการ

            การวางท่อระบายน้ำใต้ดิน อาจทำได้โดย ใช้ท่อดินเคลือบหรือท่อชนิดอื่นๆ เป็นท่อนไม่ยาว นัก ตรงข้อต่อระหว่างท่อนใช้วัสดุที่ทนน้ำและน้ำ ผ่านได้สะดวกหุ้มให้รอบ แถวของท่อน้ำอาจจะวาง ถี่หรือห่างขึ้นอยู่กับความลึกของท่อที่เราฝัง และ สภาพของดินว่าจะซึมน้ำได้ดีเพียงไร ปกติถ้าฝัง ลึกระยะระหว่างแถวก็จะห่างออก และถ้าดินซึม น้ำได้ดีก็อาจวางท่อได้ลึกขึ้น แนวท่อเหล่านี้จะวาง ลาดต่ำลงไปเรื่อยๆ แล้วระบายลงสู่คูอีกทอดหนึ่ง