การแต่งทรงต้นและการตัดแต่งกิ่ง
การทำสวนผลไม้ เพื่อให้ได้รับความสำเร็จนั้น นอกจากจะขึ้นอยู่กับการเลือกชนิด และพันธุ์ไม้ที่ดีมาปลูกแล้ว ยังขึ้นอยู่กับการปฏิบัติในสวน และการดูแลรักษาอื่นๆ การตัดแต่งเป็นวิธีปฏิบัติในสวนผลไม้อย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ในระยะแรกๆ ของการปลูกไม้ผล มีความจำเป็นต้องดัดแปลง หรือบังคับให้ต้นไม้มีรูปร่าง และลักษณะตามที่ต้องการ เพื่อไม่ให้เกะกะ ในการปฏิบัติงานสวน และเกิดผลดี ในการออกดอกติดผลในเวลาต่อไป การตัดแต่งเพื่อให้ต้นไม้มีรูปทรงตามต้องการนี้เรียกว่า "การแต่งทรงต้น" (training) ซึ่งปกติ จะทำในระยะ ๒-๓ ปีแรกขณะที่ต้นไม้ยังมีขนาดเล็ก และอายุยังน้อยอยู่ พอต้นไม้โตขึ้น จนสามารถให้ดอกผลได้แล้ว จำเป็นจะต้องตัดกิ่ง ของพืชออกบ้าง เพื่อให้ส่วนที่เหลือทำหน้าที่ในการให้ประโยชน์เต็มที่ การปฏิบัติเช่นกรณีหลังนี้ เรียกว่า "การตัดแต่งกิ่ง" (pruning)
การตัดแต่งทรงของต้นท้อ
ต้นไม้ผลในบ้านเราส่วนมากเป็นพวกที่ไม่ผลัดใบ (evergreen) การพักตัวแทบจะไม่มี ดังนั้น การตัดแต่งกิ่งต้นไม้ในบ้านเราส่วนมากจึงเป็นการตัดกิ่งที่ไม่ต้องการทิ้ง เช่น กิ่งแห้ง กิ่งแก่ หรือกิ่งที่เป็นโรค เพื่อเป็นการถนอมอาหารของต้นไม้ไม่ให้เสียไป โดยไม่จำเป็น การตัดแต่งกิ่งโดยทั่วไปทำกันระหว่างฤดูแล้ง ขณะที่การเจริญเติบโต ของต้นไม้ มีน้อย หรืออยู่ในระยะพักตัว ไม้เมืองหนาวส่วนมากเป็นพวกผลัดใบ (deciduous) การตัดแต่งกิ่งต้นไม้เมืองหนาวจึงควรทำในฤดูหนาว ซึ่งเป็นระยะพักตัวของต้น ในระหว่างพักตัวอยู่นี้ ในลำต้นจะมีอาหารสำรองไว้มากพอสมควร พอถึงฤดูใบไม้ผลิ จะมีการเจริญเติบโตอย่างมากมาย การตัดแต่งกิ่งต้นไม้เมืองหนาวจึงจำเป็นมาก เพราะนอกจากจะเป็นการลดจำนวนกิ่ง อันจะช่วยป้องกันอันตรายจากความหนาวเย็นแล้ว พอถึงฤดูใบไม้ผลิ ใบหรือดอก ที่แตกออกมา ก็จะมีอาหารอย่างเพียงพอ และทำให้เกิดดอกมากขึ้นด้วย
การตัดแต่งกิ่งอาจทำแต่เพียงเบาบาง คือ ตัดกิ่งก้านออกประมาณ ๕% หรือน้อยกว่า อีกแบบ หนึ่งเป็นการตัดกิ่งออกมากๆ กล่าวคือ ตัดออกประมาณ ๑๕% หรือมากกว่า ไม้ผลในบ้านเราส่วนมากควรตัดแต่งกิ่งแต่เพียงเบาบาง หรือเป็นการตัดแต่งประจำปี ยกเว้นไม้ผลบางชนิด เช่น องุ่น พุทรา เป็นต้น
ชาวสวนควรทราบนิสัยการออกดอกติดผลของไม้ผลก่อนที่จะทำการตัดแต่งกิ่ง พืชแต่ละชนิดอาจมีนิสัยในการออกดอก แตกต่างกันไป ไม้ผลบางชนิดออกดอกตามยอดกิ่ง เช่น มะม่วง ลำ ไย ลิ้นจี่ ส้ม และลูกเนย บางชนิดออกดอกตามกิ่งแก่ เช่น ทุเรียน ขนุน มะไฟ และมะยม การที่พืชมีนิสัยดังกล่าวนั้นเกี่ยวข้องกับตำแหน่งของตาดอกของต้นไม้แต่ละชนิดว่า เกิดอยู่ใกล้กับแหล่งอาหาร และปัจจัย ในการเกิดดอกเพียงใด ผู้ริเริ่มในการตัดแต่งกิ่งใหม่ๆ จำเป็นต้องรู้นิสัยของพืชนั้นๆ เพราะถ้าไปตัดเอาส่วนที่พืชจะให้ดอกออกไปเสียแล้ว ก็จะเกิดผลเสียหาย
การตัดแต่งทรงต้นองุ่น
จุดประสงค์ของการแต่งทรงต้นและการตัดแต่งกิ่ง
การแต่งทรงต้น และการตัดแต่งกิ่งสำหรับไม้ผลมีจุดประสงค์ดังนี้ คือ
๑. เพื่อให้ต้นไม้แข็งแรง และอายุยืน ในการแต่งทรงต้น เราเริ่มต้นทำ ตั้งแต่พืชยังต้นเล็กอยู่ ในระยะนี้เราเริ่มตัดกิ่งไม้ผล โดยเลือกเอาไว้เฉพาะกิ่งที่แข็งแรง และอยู่ในทิศทางที่ต้องการ กิ่งอ่อนแอ หรือกิ่งที่ฉีกง่ายก็ตัดทิ้งไป เมื่อต้นโตขึ้นมา โครงร่างของต้น ย่อมแข็งแรงดีกว่าพวกที่ไม่ได้ทำการตัดแต่งทรงต้น
ไม้ผลที่ไม่ได้รับการแต่งทรงต้น และการตัดแต่งกิ่งเลยนั้น จะตกผลเร็ว แต่จะให้ผลผลิตสูงสุดได้ไม่นาน ผลผลิตก็จะลดลงอย่างฮวบฮาบ หลังจากนั้นต้นไม้จะให้ผลน้อยมาก และต้นจะโทรม ส่วนไม้ผลที่ได้รับการแต่งทรงต้น และตัดแต่งกิ่งอย่างถูกต้องนั้น จะให้ผลช้ากว่า แต่เมื่อถึงจุดที่ให้ผลสูงสุด ซึ่งจะอยู่ในระดับต่ำกว่าต้นที่ไม่ได้รับการตัดแต่งเพียงเล็กน้อย ต้นที่ได้รับการแต่งทรงต้น และตัดแต่งกิ่งจะให้ผลนานกว่า และอายุยืนนานกว่า การที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าไม้ผลที่ไม่มีการแต่งทรงต้น และตัดแต่งกิ่งจะมีพุ่มใหญ่เร็ว ซึ่งจะทำให้ออกดอกติดผลเร็ว และเมื่อไม่มีการตัดแต่งกิ่งออกเลย ก็จะทำให้พุ่มใหญ่เต็มที่เท่าที่ดินฟ้าอากาศจะอำนวย จึงทำให้มีเนื้อที่ให้ผลมาก ส่วนพวกที่มีการตัดแต่งกิ่ง และแต่งทรงต้นนั้นพุ่มจะเล็กกว่า เนื้อที่ที่ให้ผลจึงน้อยกว่า และทำให้ผลผลิตน้อยในระยะแรก ต้นที่ทิ้งไว้ตามธรรมชาติไม่มีการตัดแต่งจะออกดอกติดผลเต็มที่เท่าที่ต้นจะทนได้ ทำให้ต้นโทรมเร็ว และผลผลิตลดลง ส่วนการตัดแต่งจะเป็นการช่วยให้ไม้ผลแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ทรุดโทรมเร็ว จึงทำให้การออกดอกติดผลมีระยะเวลานานกว่า
๒. เพื่อให้ต้นไม้มีรูปร่างลักษณะเหมาะแก่การปฏิบัติงานในสวน การแต่งทรงต้น และการตัดแต่งกิ่งจะทำให้ต้นไม้มีรูปร่าง ตามที่ต้องการ ซึ่งจะสะดวกแก่การที่จะนำเอาเครื่องมือเครื่องใช้เข้าไปปฏิบัติงาน ทรงต้นที่ไม่สูงเกินไป และพุ่มไม่แน่นมากนัก จะสะดวกในการฉีดยากำจัดโรคและแมลง การให้ธาตุอาหารทางใบตลอดจนการเก็บเกี่ยวผลไม้ การตัดแต่งที่ดี จะทำให้แสงแดดผ่านเข้าไปทั่วพุ่ม อันจะเป็นการป้องกันโรคบางชนิดได้ด้วย
ผลจากการตัดแต่งกิ่งใหญ่
ที่มีการรักษาแผลไม่ถูกวิธี
๓. เพื่อให้ได้ผลไม้ออกกระจายอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งต้น การตัดแต่งจะทำให้มีการกระจายของกิ่งไปทั่วพุ่ม และทำให้ผลไม้ออกกระจายทั่วทั้งต้น ไม่แออัดอยู่กิ่งใดกิ่งหนึ่ง ทำให้กิ่งอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ไม่รับน้ำหนักมากในบางกิ่ง ผลไม้ก็จะมีความสมบูรณ์สม่ำเสมอกัน
๔. เพื่อให้ได้ผลไม้ที่มีคุณภาพดี เมื่อผลไม้กระจายทั่วทั้งต้น และแสงแดดก็สามารถส่องทะลุพุ่มได้ การสร้างอาหาร ก็เป็นไปอย่างเต็มที่ ทำให้ผลมีขนาดและคุณภาพดีพร้อมทั่วทั้งต้น การตัดแต่งกิ่งควรจะคำนึงถึงปริมาณใบในต้นด้วย เพราะไม้ผล ถ้ามีใบน้อยเกินไป จะทำให้ขนาดและคุณภาพของผลลดลง การปลิดผลออกเสียบ้างจะเป็นอีกทางหนึ่ง ที่จะทำให้อัตราส่วนของใบต่อผลอยู่ในระดับพอดี
๕. เพื่อให้ต้นไม้ออกดอกติดผลสม่ำเสมอทุกปี การตัดแต่งกิ่งจะช่วยแก้ปัญหาการออกผลเว้นปี (alternate bearing) ของไม้ผล ปัญหานี้มักจะพบอยู่เสมอในลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน มะม่วง เป็นต้น สาเหตุใหญ่มาจากเรื่องอาหาร และสิ่งแวดล้อม ถ้าเราสามารถควบคุมการออกดอกติดผล ไม่ปล่อยให้ต้นไม้ติดผลมากจนต้นโทรมโดยการตัดแต่งกิ่ง การปลิดดอกผล ตลอดจนการให้ปุ๋ย ก็จะช่วยแก้ไขการออกผลเว้นปีได้ โดยจะช่วยทำให้อาหารในต้นมีอยู่ตลอดไปไม่ขาดแคลน จนถึงกับไม่สามารถให้ผลในปีต่อๆ ไปได้
ต้นน้อยหน่าออสเตรเลีย
หลังจากตัดแต่งทรงต้นแล้ว
๖. ป้องกันการระบาดของโรคและแมลง การตัดกิ่งที่เป็นโรคและแมลง ออกไปเสียจากต้น จะเป็นการป้องกันไม่ให้โรคและแมลง ระบาดไปสู่กิ่งอื่นๆ ภายในต้น การตัดเอากาฝากออก บางครั้ง จำเป็นต้องตัดทั้งกิ่ง ทั้งนี้เพราะรากกาฝากจะไชชอนไปตามกิ่ง ระหว่างเนื้อไม้กับเปลือก ถ้าเอารากออกไม่หมด ก็อาจแตกเป็นต้นใหม่ได้
๒. วิธีตัดกิ่งและการรักษาแผล
การตัดกิ่งออกจากต้นอาจทำได้เป็นสองลักษณะ คือ การทอนกิ่ง และการตัดกิ่งทิ้งทั้งกิ่ง การทอนกิ่งเป็นการตัดกิ่ง เพื่อให้แตกยอดใหม่ การตัดจึงจำเป็นต้องเหลือตอกิ่งไว้ และควรตัดลงมาถึงตาที่อยู่ในทิศทางที่ต้องการ การตัดลงมาถึงตา ที่หันเข้าหาพุ่ม เป็นการตัดที่ไม่ถูกต้อง เพราะกิ่งที่เกิดใหม่จะไม่มีประโยชน์ซึ่งต้องตัดทิ้งในภายหลัง การตัดควรตัดชิดกับตา และทำเป็นปากฉลาม โดยให้รอยแผลหันออกจากตา การตัดที่เหลือตอไว้ยาวๆ เหนือตา นั้นจะไม่เกิดประโยชน์ บางครั้งตอจะแห้ง หรือเน่าลามลงมาถึงตาด้วย สำหรับการตัดกิ่งทิ้งทั้งกิ่ง หรือตัดโดยไม่ให้เหลือตอกิ่ง เป็นการตัดกิ่งที่ไม่ต้องการทิ้ง เช่น กิ่งที่หันเข้าหาพุ่ม หรือหันออกจากทิศทางที่ต้องการ หรือกิ่งที่เป็นโรคตลอดจนกิ่งแห้ง เป็นต้น การตัดแบบหลังนี้จะตัดชิดกับต้น หรือชิดกับกิ่งใหญ่เลยที่เดียว
รอยแผลที่เกิดจากการตัดกิ่ง ควรให้มีผิวหน้าเรียบและเสมอเป็นหน้าเดียว การตัดกิ่งที่มีขนาดใหญ่ ยาว และมีน้ำหนักมาก ควรตัดด้วยความระมัดระวัง เพื่อป้องกันการฉีก ควรเลื่อยด้านล่างของกิ่งให้ห่างจากลำต้น หรือกิ่งใหญ่พอสมควร ให้รอยลึกประมาณ ๑ ใน ๓ ของเส้นผ่านศูนย์กลางของกิ่งเสียก่อน แล้วเลื่อยด้านบนห่างจากรอยเดิม ออกไปทางชายพุ่มเล็กน้อย กิ่งก็จะหลุดออก โดยไม่ฉีก เมื่อขาดแล้วจึงค่อยทำการเลื่อยให้ชิดกับลำต้น หรือกิ่งใหญ่อีกที หรือตัดตรงบริเวณที่ต้องการ
ถ้าต้นไม้ได้รับการแต่งทรงต้นอย่างถูกต้อง ตลอดมาตั้งแต่เล็กแล้ว กิ่งใหญ่ก็จะไม่ต้องถูกตัด กิ่งที่จะต้องตัดก็เป็นเพียงกิ่งเล็กๆ เท่านั้น การรักษาแผลก็อาจไม่จำเป็น อย่างไรก็ดีเมื่อต้องตัดกิ่ง ใหญ่ก็ควรช่วยรักษาแผลให้หายก่อนที่แผลจะเน่า หรือมีแมลงเข้าทำลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่ชุ่มชื้น และอุณหภูมิสูง แผลที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ครึ่งนิ้วขึ้นไป ควรได้รับการรักษา ยาที่ใช้รักษาแผล ควรใช้สารพวกปูนขาว ยางมะตอย สี น้ำมันดิน ฯลฯ หลังจากทาแล้วควรตรวจดูเป็นครั้งคราว อาจต้องทาซ้ำอีกจนกระทั่งแผลประสานกันสนิท การรักษาแผลใหญ่และลึกซึ่งอาจเกิดจากกิ่งฉีกออกจากลำต้น หรือจากการตัดแต่ง ที่ไม่ดี อาจทำการแก้ไข โดยตัดหรือเฉือนกิ่งที่ตายนั้นจนถึงเปลือกหรือเนื้อ ไม้ที่สด แล้วทาด้วยยาฆ่าราก่อนที่จะใช้ยางมะตอย หรือซีเมนต์อุด (ใช้ปูนซีเมนต์ ๑ ส่วน ทราย ๓ ส่วน) โดยอุดให้เสมอกับผิวของเปลือก