เล่มที่ 5
ไม้ผล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การป้องกันกำจัดศัตรูของไม้ผล

            ศัตรูของไม้ผลเป็นปัญหาที่มีความสำคัญอย่างหนึ่งในการทำสวนผลไม้ ศัตรูจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับต้นไม้ของเรา ตั้งแต่เริ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ จนถึงส่งผลไม้สู่ตลาด จึงจำเป็นสำหรับชาวสวนที่จะต้องเรียนรู้เรื่องโรคแมลงและศัตรูอื่นๆ ตลอดจนการป้องกันกำจัด โดยเฉพาะการทำสวนผลไม้ในระยะเริ่มแรก หรือการทำสวนผลไม้ในเขตที่ห่างไกลออกไป ชาวสวนควรสนใจเรื่องโรคและแมลง ที่อาจเกิดกับต้นไม้ของตนเป็นพิเศษ เพราะเราไม่ทราบว่า ผืนแผ่นดินแหล่งใหม่นั้น มีโรคหรือแมลงอะไรบ้าง และเราไม่ทราบระยะเวลาระบาดของมัน เพื่อความไม่ประมาทจึงควรติดตามดูต้นไม้ของเราทุกระยะ พอได้เค้าว่า โรคหรือแมลงทำท่าจะระบาด หรือคุกคาม เราก็จัดการกำจัดเสียแต่ต้นมือ สำหรับสวนที่ทำมาหลายๆ ปี แล้วพอทราบได้ว่า โรคและแมลงชนิดใดจะระบาดในเดือนไหน เราก็เตรียมการป้องกันกำจัดไว้ก่อนได้

            ศัตรูของไม้ผลนอกจากโรคและแมลงแล้ว ยังมีไส้เดือนฝอย วัชพืช ฯลฯ ตลอดจนอาการผิดปกติทางสรีระของต้นไม้ สำหรับโรคนั้น อาจมีสาเหตุมาจากเชื้อเห็ดรา บัคเตรี ไวรัส สาหร่าย เป็นต้น ถ้าเราทราบสาเหตุของโรคว่าเกิดจากอะไรแล้ว เราก็อาจกำจัดได้ โดยใช้ยาปราบศัตรูพืชตามชนิดและประเภทของศัตรูได้

วิธีป้องกันกำจัด

การป้องกันกำจัดศัตรูพืชอาจทำได้หลายวิธีด้วยกัน คือ

            ๑. การทำลายเศษพืช การทำลายเศษกิ่งไม้ใบไม้ตลอดจนวัชพืชในแปลงไม้ผล หรือบริเวณรอบๆ สวนผลไม้ นับว่า เป็นการป้องกันโรคและแมลงได้ดีวิธีหนึ่ง เพราะโรคและแมลงอาจอาศัยเศษกิ่งไม้ใบไม้ หรือต้นหญ้าเหล่านั้นเป็นที่แพร่พันธุ์

            ๒. การฆ่าเชื้อในดิน โรคหรือแมลงบางชนิดอาศัยอยู่ในดินหรือส่วนของพืชที่อยู่ใต้ดิน ควรทำการกำจัดศัตรูในดิน ก่อนทำการปลูกต้นไม้ เพราะถ้าทำหลังจากที่ปลูกพืชแล้ว อาจเป็นอันตรายต่อต้นไม้ในสวนได้ และในบางครั้ง อาจมีผลต่อคุณสมบัติของดิน ทั้งนี้เพราะจุลินทรีย์ในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอาจได้รับอันตราย และถ้ามีการระบาดของโรคหรือแมลงใหม่อีก จะทำให้การระบาดรุนแรงกว่าเก่า การป้องกันกำจัดศัตรูใต้ดิน อาจทำได้หลายทางด้วยกัน เช่น ใช้ความร้อนหรือสารเคมี มีสารเคมีหลายชนิดที่ใช้สำหรับการฆ่าเชื้อในดิน เช่น เมทิลโบรไมด์ คลอโรพิคริน ไดคลอดโรโพรฟีน เอทิลไดโบรไมด์ ฟอร์มาลดีไฮด์ เป็นต้น

            ๓. การป้องกันกำจัดด้วยสารเคมี สารเคมีอาจมีสมบัติเฉพาะ คือ ไม่สามารถกำจัดศัตรูได้ทุกชนิด จึงเกิดมียากำจัดศัตรูพืชหลายประเภทด้วยกัน เช่น ย่าฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อรา ยากำจัดวัชพืช ยาฆ่าไรแดง ยากำจัดหอยและทาก ยากำจัดไส้เดือนฝอย ยากำจัดหนูหรือสัตว์ฟันคู่ ยากำจัดบัคเตรี เป็นต้น
โรคโคนเน่าของทุเรียน
โรคโคนเน่าของทุเรียน
            ๔. การป้องกันกำจัดด้วยวิธีปฏิบัติ เป็นการป้องกันกำจัดแมลงที่มีความสำคัญอีกวิธีหนึ่ง เช่น การจับด้วยมือหรือสวิง ตลอดจนใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น จุดตะเกียงล่อ การหุ้มห่อผลไม้ นอกจากนี้อาจใช้วิธีเขตกรรม เช่น การไถพรวนหรือปลูกพืชหมุนเวียน การตั้งด่านกักกันพืช ก็จัดอยู่ในวิธีปฏิบัติเช่นกัน
            ๕. การใช้พันธุ์ต้านทานโรค การป้องกันแบบนี้ส่วนมากเป็นผลมาจากการผสมพันธุ์ เพื่อให้เกิดพันธุ์ใหม่ที่ต้านทานโรค หรืออาจได้จากการคัดพันธุ์หรือต้นตอที่มีความต้านทานต่อโรคและแมลง ตัวอย่างเช่น กล้วยไข่ กล้วยหักมุก และกล้วยหอมเขียว จะทนต่อโรคตายพรายของกล้วย ต้นตอที่เพาะจากทุเรียนดอน ทนต่อโรคโคนเน่าของทุเรียน ต้นตอส้มสามใบ คลีโอพัตรา และซาวออร์รินจ์ มีความต้านทานต่อโรคโคนเน่าของส้ม เป็นต้น

            ๖. การป้องกันกำจัดทางชีววิธี (biological control) การป้องกันกำจัดทางชีววิธีเป็นการใช้สิ่งที่มีชีวิตช่วยควบคุมศัตรูพืช เช่น การใช้แมลงเต่ากำจัดเพลี้ยอ่อน และเพลี้ยแป้ง การใช้บัคเตรีกำจัดหนอนของแมลง การใช้ถั่วลายกำจัดหญ้าคา เป็นต้น

            ในธรรมชาติจะมีศัตรูอยู่ ๒ ประเภท คือ ศัตรูตามธรรมชาติ และศัตรูพืช ศัตรูทั้งสองอย่างนี้จะต้องควบคุมกันเองได้ตามธรรมชาติ จึงจะเกิดสมดุล ศัตรูตามธรรมชาติเป็นศัตรูที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตร เพราะช่วยกำจัดศัตรูให้กับชาวสวน ศัตรูประเภทนี้ แบ่งออกได้เป็น ตัวห้ำ (predator) และตัวเบียน (parasite) ตัวห้ำเป็นสัตว์ที่กินแมลงหรือสัตว์อื่นๆ เป็นอาหาร เช่น ตั้กแตนตำข้าว หมาร่า แมลงเต่า ส่วนตัวเบียนเป็นสัตว์หรือจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บนแมลงซึ่งเป็นตัวอาศัย (host) และตัวเบียนจะได้อาหาร จากตัวอาศัยนั้นๆ ทำให้ศัตรูพืชที่เป็นตัวอาศัยได้รับอันตรายหรือตายได้ ตัวอย่างเข่น การใช้บัคเตรี (Bacillus thuringiensis) กำจัดหนอน จุลินทรีย์ตัวนี้จะทำให้หนอนพิการไม่สามารถเคลื่อนที่ หรือหาอาหารได้ ตัวหนอนเหล่านั้นก็จะตายไปในที่สุด ทำให้ธรรมชาติมีศัตรูพืชอยู่ในปริมาณที่ไม่มากพอ จะทำให้เกิดความเสียหายแก่พืชผลได้

ผลตกค้างของสารเคมีในผลไม้


            ยาปราบศัตรูพืชเกือบทุกชนิดเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ จึงควรทราบพิษของสารเหล่านั้นว่ามีมากน้อยเพียงใด ปกติที่ฉลากยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชจะบอกความเป็นพิษของสารไว้เป็น median lethal dose หรือ LD50 ซึ่งหมายถึง ปริมาณเฉลี่ยของวัตถุมีพิษที่ทำให้สัตว์ทดลองตายครึ่งหนึ่ง โดยบอกเป็นจำนวนมิลลิกรัมของวัตถุมีพิษต่อน้ำหนักของสัตว์ทดลอง ๑ กก. เช่น ออลดรินมี LD50 เท่ากับ ๓๙ หมายความว่าสัตว์ทดลองเช่นหนูที่หนักตัวละ ๑ กก. จำนวน ๑๐๐ ตัว กินยานี้เข้าไปตัวละ ๓๙ มิลลิกรัม หนูจะตายไป ๕๐ ตัว จะเห็นได้ว่าสารเคมียิ่งมี LD50 น้อยยิ่งมีพิษมาก LD50 ระหว่าง ๕๐-๓๐๐ ถือว่ามีพิษปานกลาง ๓๐๐-๓,๐๐๐ ถือว่ามีพิษน้อย และตั้งแต่ ๓,๐๐๐ ขึ้นไปถือว่าเป็นพิษต่อผู้ใช้น้อยมาก

            ในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมักมีปัญหาเกี่ยวกับกากพิษของสารที่ตกค้างอยู่ในผลไม้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค การคงอยู่ของสารเคมีบนผลิตผลจะเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความเข้มข้นของสารเคมีที่ใช้ ระยะเวลาที่ควรเก็บผลไม้ หลังฉีดยาแล้ว ชนิดของสาร ตลอดจนยาจับใบที่เติมลงไปในสารละลายที่เราฉีด กากพิษของสารเคมีบนผลิตผลควรมีปริมาณ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค