เล่มที่ 5
ไม้ผล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
การเกิดดอก

            บริเวณปลายยอดของกิ่งมีกลุ่มเซลล์ที่มีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว กลุ่มเซลล์เหล่านี้อาจแปรรูปเป็นตาดอกหรือใบก็ได้ ในระยะแรก ของการเจริญเติบโตของพืช กลุ่มเซลล์ที่กล่าวนี้จะเจริญไปเป็นกิ่งใบ ทำให้พืชมีการเจริญเติบโตตามด้านยาวเป็นส่วนมาก ทำให้พืชสูงใหญ่ขึ้น พอถึงอีกระยะหนึ่ง จะหยุดเจริญทางกิ่งใบ และเริ่มสร้างดอกหรือช่อดอก ในระยะนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานของตาใบอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ ตาใบจะค่อยๆ แบนออก เพราะมีการเจริญทางด้านยาวน้อยมาก แล้วเกิดเป็นตาดอก ทำให้เกิดจุดกำเนินดอกขึ้น ซึ่งมีลักษณะนูนขึ้นเล็กน้อย ส่วนต่างๆ ของดอกจะเจริญจากจุดนี้ 

ดอกท้อ

            พืชบางชนิดจะออกดอกได้ ต่อเมื่อได้รับช่วงแสงวันสั้น บางชนิดต้องการช่วงแสงวันยาว จึงจะออกดอก แต่บางชนิดการออกดอกจะไม่ถูกกระทบกระเทือน แม้จะมีวันสั้นหรือยาว ดังนั้นจึงมีการแบ่งพืชออกเป็น ๓ พวกโดยอาศัยความสั้นยาวของวัน (day-length) คือ

๑. พืชวันสั้น (short-day plant)

            เป็นพืชที่จะออกดอกเมื่อได้รับแสงในช่วง ๒๔ ชั่วโมง (๑ วัน) ต่ำกว่าความยาววิกฤต (critical day-length) ของพืชนั้น ตัวอย่างเช่น พืชวันสั้นชนิดหนึ่งมีความยาววันวิกฤต ๑๒ ชั่วโมง พืชชนิดนี้จะออกดอกต่อเมื่อได้รับแสงน้อยกว่า ๑๒ ชั่วโมงในช่วง ๒๔ ชั่วโมง และถ้าได้รับแสงมากกว่า ๑๒ ชั่วโมงในช่วง ๒๔ ชั่วโมง พืชจะไม่ออกดอก แต่จะมีการเจริญทางกิ่งใบเท่านั้น

ดอกชมพู่

๒. พืชวันยาว (long-day plant)

            พืชวันยาวจะออกดอกได้ต่อเมื่อได้รับแสงในช่วง ๒๔ ชั่วโมง มากกว่าความยาววันวิกฤต ของพืชนั้น เช่น ผักโขมฝรั่ง (spinach) จะออกดอกได้เมื่อได้รับแสงมากกว่า ๑๓ ชั่วโมง ในช่วง ๒๔ ชั่วโมง ฉะนั้น ความยาววันวิกฤตของผักโขมฝรั่งจึงเท่ากับ ๑๓ ชั่วโมง

๓. พืชเป็นกลาง (day-neutral plant)

            พืชกลุ่มที่สามนี้จะออกดอกได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับความสั้นยาวของวัน กล่าวคือ สามารถออกดอกได้ตามอายุ ถ้าหากว่ามีปัจจัย ในการเกิดดอกอย่างสมบูรณ์ ตัวอย่างเช่น ข้าวโพด มะเขือเทศ
ปัจจัยทางอ้อมที่ทำให้เกิดดอก

ปัจจัยที่เป็นเหตุให้พืชออกดอกได้นั้นมีหลายอย่างด้วยกัน สามารถแยกกล่าวเป็นข้อๆ ดังนี้

            ๑. แสงสว่าง

            ความเข้มของแสง ช่วงเวลาของแสง และคุณภาพของแสง มีบทบาทต่อการเกิดตาดอกของพืช

            ๒. การควั่นกิ่ง

            การควั่นกิ่งเป็นการทรมานพืชวิธีหนึ่ง เพื่อตัดท่ออาหาร โดยการควั่นเอาเปลือกออกให้รอบกิ่ง หรือลำต้น ให้มีรอยแผลแคบๆ หรืออาจใช้เลื่อยธรรมดา เลื่อยให้เป็นรอยเดียว ให้ทะลุเปลือกรอบๆ กิ่งหรือต้น หรืออาจใช้ลวดรัด เพื่อไม่ให้ส่วนนั้นขยายตัวออก ก็จะเป็นการตัดทางเดินของอาหาร มาสู่ส่วนล่างของรอยแผลได้ อาหารและสารบางอย่างที่จำเป็นต่อการเกิดดอก จะสะสมอยู่ส่วนยอด จะช่วยทำให้ต้นไม้ออกดอกได้ การทรมานพืช ด้วยวิธีสับเปลือกรอบโคนกิ่งหรือต้น ก็จะได้ผลคล้ายๆ กัน

ดอกลำไย

            ในการทำสวนผลไม้เป็นการค้านั้น การทรมานพืช เพื่อให้เกิดดอกนั้นมีความสำคัญน้อยมาก เพราะเป็นวิธีที่ให้ผลไม่แน่นอน และอาจเป็นอันตรายต่อต้นไม้ได้ง่าย ในฮาวายมีการทดลองใช้วิธีควั่นกิ่ง เพื่อบังคับให้ลิ้นจี่ออกดอก ปรากฏว่ามีลิ้นจี่พันธุ์ Brewster เท่านั้นที่สนองตอบต่อการควั่นกิ่ง

ปลีกล้วย
            ๓. การตัดกิ่ง และโน้มกิ่ง

            การตัดหรือโน้มกิ่งให้อยู่ในแนวระดับ หรือเกือบอยู่ในแนวระดับ จะช่วยการออกดอก ในพืชบางชนิดได้ ทั้งนี้เพราะกิ่งหรือยอดที่อยู่ในสภาพแนวระดับ จะชะงักการเจริญเติบโตทางกิ่งใบ ทำให้ส่วนเหล่านั้น สะสมสารที่เกี่ยวข้องกับการเกิดดอก

            ๔. การควบคุมการให้น้ำ

            การลดความชื้นในดินในช่วงเวลาที่พืชสร้างตาดอก จะช่วยกระตุ้นให้ไม้ผลสร้างตาดอกได้ เพราะเป็นการลดการเจริญทางกิ่งใบ พืชก็จะสะสมคาร์โบไฮเดรตในปริมาณมากพอในการเกิดดอก การปฏิบัติแบบนี้ได้ผลดีกับสวนผลไม้ ที่ได้รับการเอาใจใส่อย่างดีเท่านั้น ถ้าพืชในสวนนั้นไม่ค่อยได้น้ำ และอากาศมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง และต้นไม้ออกดอกเป็นจำนวนมากในปีที่แล้ว ถ้าเราไปงดการให้น้ำเข้าอีก การเกิดดอกจะกระทบกระเทือน เพราะพืชจะใช้คาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ให้หมดไป อุณหภูมิที่สูงนั้นก็จะช่วยเพิ่มการหายใจอีกทางหนึ่ง

การเกิดดอกของผลแอปเปิล

            ๕. การควบคุมการใส่ปุ๋ย

            การใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนหรือปุ๋ยคอกกับไม้ผลที่มีอายุน้อย หรือไม้ผลที่ยังไม่ตกลูก จะทำให้พืชออกดอกช้าลง เพราะปุ๋ยจะไปเร่งการเจริญเติบโตทางกิ่งใบ ทำให้หมดเปลืองคาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ สำหรับต้นที่ให้ผลแล้ว การให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง จะเป็นอุปสรรคต่อการเกิดดอกบ้าง บางทีจะทำให้จำนวนดอกลดลง การให้ปุ๋ยในช่วงที่ต้นไม้จะออกดอก โดยเฉพาะการให้ไนโตรเจน จึงมีผลโดยตรง ต่อการเกิดดอก เพราะในช่วงนั้นต้นไม้ส่วนมากจะต้องชะงักการเจริญทางกิ่งใบ ต้นจึงจะออกดอก

            ๖. ผลจากสารเคมี ในปัจจุบันมีการใช้ ฮอร์โมน และสารเคมีบางอย่างช่วยกระตุ้นให้ไม้ผลออกดอก หรือช่วยกระตุ้นให้ตาดอก ที่พักตัวอยู่ เจริญต่อไป ในสับปะรดเราสามารถกระตุ้นให้ออกดอกได้โดยใช้สารเคมีบางชนิด เช่น เกลือโซเดียม ของกรดแนฟตาลีนอะซิติก แคลเซียมคาร์ไบด์ หรือ ethephon พ่นหรือหยอดลงไปที่ยอด

            ๗. อุณหภูมิ

            พืชบางชนิด เช่น ลื้นจี่ ลำไย มะม่วง สตรอว์เบอร์รี จะออกดอกได้ดีถ้าอากาศเย็น ก่อนถึงเวลาการออกดอกเล็กน้อย ทั้งนี้ เพราะความเย็นช่วยกระตุ้นให้พืชสร้างสาร ที่ใช้ในการสร้างตาดอก และความแห้งแล้งที่มาพร้อมกับความเย็น จะทำให้พืชชะงักการเจริญเติบโตทางกิ่งใบ ทำให้ต้นไม้สะสมอาหารคาร์โบไฮเดรตได้มากขึ้น ทำให้อัตราส่วนของอาหาร อยู่ในระดับพอดี ที่จะทำให้พืชออกดอกได้

การเจริญเติบโตของผลแอปเปิล

            ในการทำสวนผลไม้บางชนิด เช่น การปลูกมะม่วง ในฟิลิปปินส์มีการช่วยให้พืชออกดอกโดยวิธีรมควัน คือ สุมไฟไว้บริเวณใต้พุ่ม หรือบริเวณใกล้เคียงกับต้นมะม่วง จะทำให้บรรยากาศในบริเวณสวนมีความแห้งแล้ง และต้นไม้อาจได้รับก๊าซบางอย่าง เช่น อะเซทิลีน หรือเอทิลีน ซึ่งอยู่ในควันไฟ ทำให้มะม่วงออกดอกได้ดีขึ้น


ส้มเขียวหวาน

            ๘. การตัดแต่งไม้ผลที่มีพุ่มหนาทึบ

            กิ่งใบมักจะอวบน้ำ และการสะสมอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตจะมีน้อย พืชจะไม่ค่อยออกดอก การตัดกิ่งใบที่มากเกินไปออกเสียบ้างจะช่วยให้เกิดดอกได้ แต่ต้องทำให้พอดี และคำนึงถึงอายุของต้นไม้ด้วย ปกติการตัดแต่งไม้ผลที่ยังไม่เคยตกผลมาก่อนอาจ ทำให้เกิดดอกล่าช้า หรือลดจำนวนตาดอกได้

            การตัดแต่งราก เป็นการลดเนื้อที่รากให้น้อยลง ทำให้พืชดูดแร่ธาตุอาหารได้น้อยลง การ เจริญทางกิ่งใบก็อาจลดลง พืชก็จะสะสมอาหารพวกคาร์โบไฮเดรตมากขึ้น ทำให้เกิดดอกได้ การตัดแต่งรากโดยทั่วไป ควรทำก่อนต้นไม้ออกดอกหลายๆ สัปดาห์ วิธีปฏิบัติอาจขุดดินเป็นคูแคบๆ ห่างจากต้น ๑.๒๐-๑.๕๐ เมตร แล้วตัดรากออกเสียบ้าง อย่างไรก็ดีการปฏิบัติด้วยวิธีนี้ ไม่ค่อยนิยมกัน เพราะอาจมีอันตรายต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้

มะเฟือง

ระยะเวลาเกิดดอกและอายุผล

            ระยะเวลาการออกดอกติดผลของไม้ผลอาจแตกต่างกันออกไปตามชนิดพืช และสภาพทางภูมิศาสตร์ ไม้ผลส่วนมากจะตกผลเป็นฤดูกาล คือปีละครั้ง ยกเว้น ไม้ผลบางชนิดอาจให้ผลมากกว่า ๑ ครั้งต่อปี เช่น มะนาว ส้มโอ พุทรา ละมุด องุ่น เป็นต้น ตารางต่อไปนี้เป็นช่วงเวลาการออกดอก อายุของผลแก่ อายุจากปลูกจนถึงตกผล และจำนวนครั้งในการตกผลโดยประมาณ ของไม้ผลบางชนิดในประเทศไทย