เล่มที่ 5
ไม้ผล
สามารถแชร์ได้ผ่าน :

การติดผลและการเจริญของผล

            เมื่อดอกไม้ได้รับการผสมเกสร และผสมพันธุ์ ส่วนต่างๆ ของดอกจะมีการเปลี่ยนแปลง คือ ไข่ (ovule) จะเจริญไปเป็นเมล็ด ซึ่งข้างในจะมีคัพภะ (embryo) และมีเอนโดสเปอร์ม (edosperm) อยู่ระยะหนึ่ง หรือตลอดไป ผนังรังไข่จะเจริญไปเป็นเปลือกผล (pericarp) รังไข่ (ovary) และฐานรองดอก (receptacle) จะเริ่มขยายตัวพองออก ส่วนต่างๆ ของดอกที่อยู่รอบๆ รังไข่มักจะเริ่มเหี่ยว และจะร่วงไปในที่สุด ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่า "การติดผล" สำหรับดอกที่ไม่ได้รับการผสม จะบานได้นานกว่าดอกที่ผสมติด แต่ในที่สุดจะร่วงไปทั้งดอก

            การเจริญเติบโตของผลไม้ทุกชนิดแบ่งออกได้เป็น ๔ ระยะ คือ ระยะแรก รังไข่มีการแบ่งเซลล์อย่างมากมาย หลังจากได้รับการผสมพันธุ์แล้ว ระยะที่สอง เซลล์ที่แบ่งตัวแล้วนั้นมีการขยายตัว ในช่วงนี้ไซโทพลาสซึมจะเคลื่อนเข้าหาขอบเซลล์ ทำให้เกิดช่องว่างภายในเซลล์ และมี sap บรรจุอยู่เต็ม ซึ่งอาจกินเนื้อที่ประมาณ ๘๐ % ของปริมาตรเซลล์ เซลล์จะมีอาหารพวกแป้ง น้ำตาล และโปรตีน เมื่อผลเจริญถึงขั้นเต็มที่ก็ถึงระยะที่สาม ซึ่งจะมีการสร้างสารที่ทำให้เกิดรสชาติ (flavour) ปลายของระยะนี้ผลก็จะสุก หรืออย่างน้อยก็แก่พอที่จะเก็บได้ หลังจากนี้ก็เข้าระยะที่สี่ ซึ่งเรียกว่า ระยะสุกงอม (senescence) จะมีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในผลอย่างมาก ผลจะเริ่มสุกงอม และจะเละหรือแห้งเหี่ยวไปในที่สุด

            ปกติผลไม้จะมีเมล็ด ถ้าเมล็ดไม่เจริญก็จะทำให้ผลไม้นั้นร่วงหล่นไป แต่ไม้ผลบางชนิด สามารถมีผลที่ไม่มีเมล็ด หรือมีเมล็ดตายได้ เพราะรังไข่ไม่ได้รับการผสมพันธุ์ ขบวนการเกิดผลแบบนี้เรียกว่า "parthenocarpy" ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๒ แบบด้วยกัน คือ แบบแรก ผลจะเกิดขึ้นได้โดยที่ดอกไม่ได้รับทั้งการผสมเกสร และผสมพันธุ์ ปัจจัยที่ทำให้ผลเจริญเติบโต จะเกิดมีเองในดอกหรือรังไข่ โดยไม่ต้องได้รับการกระตุ้นจากภายนอก พืชที่เกิดผลแบบแรกได้นี้ ตามธรรมชาติยอดเกสรตัวเมียไม่พร้อมที่จะรับการผสม ตัวอย่างเช่น กล้วยหอม มะละกอ ส้มบางชนิด เป็นต้น แบบที่สองเป็นการเกิดผล โดยได้รับการกระตุ้นจากการผสมเกสร กล่าวคือ ขณะที่หลอดเรณูไชชอนลงไปตามก้านเกสรตัวเมีย จะมีการสร้างสารบางอย่างขึ้น และสารนี้จะไปกระตุ้นให้มีการขยายตัวของเซลล์ในรังไข่จนเจริญเป็นผลโตเต็มที่ได้ แต่เนื่องจาก หลอดเรณูแตกหรือตายลงกลางทาง เชื้อตัวผู้จึงไม่มีโอกาสเข้าผสมกับเชื้อตัวเมีย หรือคัพภะที่เกิดขึ้นแล้วไม่สมบูรณ์ จึงหยุดเจริญ ผลที่ได้จึงไม่มีเมล็ดหรือเมล็ดลีบ เช่น ทุเรียนบางพันธุ์ เป็นต้น

การร่วงของดอกและผล

            การร่วงของดอกและผลก่อนกำหนดอาจเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการกระทำของสิ่งแวดล้อมโดยตรงก็ได้ ก่อนที่ดอกหรือผลจะร่วง บริเวณก้านดอก หรือขั้วผลจะเกิดมีชั้นของคอร์กเซลล์ ที่เรียกว่า "abscission layer" เกิดเป็นบริเวณแคบๆ ไปตามด้านขวางของก้านดอก หรือขั้วผล ดอกหรือผลจะหลุดออกจากต้นตรงจุดนี้

            การร่วงของดอกและผลก่อนกำหนดจะมีมากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับชนิดของผลไม้ และสภาพแวดล้อม สำหรับมะม่วงนั้น ดอกสมบูรณ์เพศจะร่วงไปประมาณ ๙๙ เปอร์เซ็นต์ การติดผลจะมีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์