ประเภทของทุนการศึกษาในปัจจุบัน ทุนการศึกษาที่ให้กันอยู่ในปัจจุบัน ทั้งจากแหล่งทุนของรัฐบาล และเอกชน มีประเภทต่างๆ ดังนี้ ๑. ทุนรางวัลผลการเรียนดี ทุนประเภทนี้เป็นทุนการศึกษา ที่ให้แก่ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือก ทดสอบแข่งขันความสามารถทางวิชาการ ไม่จำกัดฐานะทางเศรษฐกิจ ของผู้สอบแข่งขัน เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ทุนรัฐบาลไปศึกษาต่างประเทศ ตามความต้องการของราชการ หรือทุนที่ผู้บริจาคกำหนดเงื่อนไข ให้ผู้ที่สอบได้คะแนนสูงสุด ในชั้นเรียนในปีการศึกษานั้นๆ หรือในวิชาใดวิชาหนึ่ง เป็นต้น ทุนเหล่านี้มีจุดประสงค์สนับสนุนความสามารถทางสติปัญญา เพื่อผลก้าวหน้าทางวิชาการ เน้นการสร้างคุณภาพมากกว่าปริมาณของการศึกษา และไม่มุ่งช่วยเหลือผู้ขาดแคลนโดยเฉพาะ เป็นเสมือนรางวัลแก่ผู้เรียนดี ที่ให้กันมาตั้งแต่สมัยเริ่มแรก | |
เด็กยากจนในชนบท ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและวัฒนธรรม | ๒. ทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลน เป็นทุนการศึกษาประเภทที่มุ่งช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยไม่วางกฎเกณฑ์คัดเลือก เอาความสามารถทางสติปัญญา เพราะในปัจจุบัน การศึกษาเป็นหน้าที่จำเป็นของผู้ปกครอง โดยเฉพาะในระดับภาคบังคับ ซึ่งไม่ยกเว้นความขัดสนทางสติปัญญา หรือเศรษฐกิจ ผู้มีจิตศรัทธา สามารถช่วยเยาวชนวัยเรียนที่ยากจนในชนบท หรือในชุมชนแออัดของเมืองใหญ่ โดยมอบทุนค่าใช้จ่าย สำหรับการศึกษาแต่ละปีของนักเรียน ผ่านมูลนิธิ สมาคม หรือโรงเรียนโดยตรง ทุนประเภทนี้มีให้ในการศึกษาทุกระดับจนถึงขั้นอุดมศึกษา |
๓. ทุนส่งเสริมการศึกษาเฉพาะทาง เป็นทุนที่มักมีในระดับอุดมศึกษา ที่มีการเน้นสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะวิชา วิชาการบางสาขาที่มีบุคคล หรือองค์การใดสนใจ ต้องการส่งเสริมเป็นพิเศษ อาจมีทุนตั้งไว้ เพื่อจูงใจให้มีผู้เรียน ทุนประเภทนี้ สามารถสร้างขุมกำลังบุคลากรทางวิชาการชั้นสูง ที่จะสืบทอด หรือประยุกต์ความรู้ที่สังคมต้องการ ในสมัยก่อนผู้ก่อตั้งทุนประเภทนี้ อาจเป็นผู้ที่เคยเรียน หรือเคยสอนวิชานั้นมาก่อน และประสงค์จะให้มีผู้สืบต่อความสนใจในวิชานั้น เช่น ทุนวิชาภาษา และวรรณคดี บาลีสันสกฤต ทุนวิชาประวัติศาสตร์ เป็นต้น ในสมัยปัจจุบัน ผู้ที่เห็นความสำคัญของวิชาหนึ่งวิชาใด ถึงแม้ไม่เป็นผู้ที่เคยเรียนเคยสอนวิชานั้น ก็อาจตั้งทุนประเภทนี้ได้ เช่น ทุนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน (ที่จำเป็นต่อการศึกษา และวิจัยขั้นสูง แต่มีผู้สนใจเรียนน้อย) ทุนวิชาอ่านศิลาจารึก (ที่จำเป็นต่อการค้นคว้าทางโบราณคดี แต่ไม่มีผลตอบแทนเป็นอาชีพ และรายได้ที่จูงใจให้อุทิศตน) เป็นต้น ๔. ทุนสนับสนุนกิจกรรมเสริมหลักสูตร เป็นทุน เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติกิจกรรม เสริมหลักสูตรบางอย่างที่สถานศึกษาถือเป็นส่วนประกอบสำคัญ ของการสร้างบุคลิกภาพ หรือคุณสมบัติสำคัญของนักเรียน นักศึกษา เช่น การกีฬา ศิลปะ ดนตรี การทำสาธารณประโยชน์ บริการชุมชน เป็นต้น สถานศึกษาดังกล่าว หรือเอกชนที่สนใจ อาจตั้งทุนการศึกษาช่วยเหลือ ผู้ที่มีความสามารถ หรืออุทิศตน เพื่อกิจกรรมเหล่านี้ได้ ๕. ทุนสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและวัฒนธรรม เมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในเมือง ซึ่งเป็นศูนย์รวมของความเจริญในแทบทุกด้านแล้ว ผู้ที่อยู่ในชนบทถึงแม้จะไม่ขัดสนสติปัญญา หรือทุนทรัพย์ ก็ต้องนับว่า ด้อยโอกาสทางสังคม และวัฒนธรรม ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่อยู่ในกลุ่มสังคมวัฒนธรรมย่อย ที่ห่างไกลจากกลุ่มสังคมวัฒนธรรมใหญ่ในเมืองหลวง เช่น ประชาชนชาวไทยภูเขาทางชายแดนภาคเหนือ ประชาชนชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือประชาชนกลุ่มอื่นๆ ในเขตทุรกันดารห่างไกลคมนาคม เป็นต้น กลุ่มเหล่านี้ เมื่อเทียบกับผู้อยู่ในเมืองใหญ่ เช่น เมืองหลวง ก็เป็นเสมือนผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และวัฒนธรรมได้ทั้งสิ้น ทุนหรือโอกาสในการศึกษา สำหรับผู้ที่ต้องการในกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ ที่จัดสรร และดำเนินการได้ดีมีประสิทธิภาพ นับเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญ เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ที่เป็นพลเมืองร่วมประเทศชาติเดียวกัน เช่น ทุนของกระทรวงมหาดไทย เพื่อการศึกษาของนักเรียนไทยมุสลิม จากจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทุนนักเรียนชาวไทยภูเขา ทุนโครงการรับนักเรียนยากจน จากชนบท โดยทุนอุดหนุนจนจบการศึกษา จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เป็นต้น | |
เด็กยากจนในชนบท ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมและวัฒนธรรม | |
นอกจากนี้ยังมีผู้ด้อยโอกาสเพราะความ เสียเปรียบทางร่างกายหรือชีวภาพ เช่น คนตาบอด คนพิการ นอกจากบริการการศึกษาพิเศษ ซึ่งทางราชการพยายามจัดหาให้แล้ว เอกชนก็มีโอกาสสมทบทุนเพื่อการศึกษาของผู้ด้อยโอกาส เหล่านี้ได้ มูลนิธิราชประชาสมาสัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ก็เน้นการให้การศึกษาแก่บุตรหลานของผู้ป่วยโรคเรื้อน เป็นกิจกรรมสำคัญ ๖. ทุนเงินยืมเพื่อการลงทุนพัฒนาบุคคล ทุนประเภทนี้ ปรากฏมีในระยะไม่เกิน ๑๐ ปีที่ผ่านมาในระดับอุดมศึกษา ไม่เป็นทุนให้เปล่า หรือให้ขาด เช่นทุนประเภทอื่นๆ ผู้ได้รับทุนจะต้องชำระเงินคืน เมื่อสำเร็จการศึกษา และได้งานอาชีพมีรายได้แล้ว เป็นบริการอย่างหนึ่ง ของธนาคารบางแห่ง เพื่อให้โอกาสผู้ที่มีความสามารถในการศึกษา แต่ขาดทุนทรัพย์ ๗. ทุนการศึกษาเพื่อส่งเสริมธุรกิจ ในปัจจุบัน ธุรกิจอุตสาหกรรม อาจโฆษณากิจการของบริษัท ในรูปของการให้ทุนการศึกษา แก่เยาวชนด้วย เช่น บริษัทการค้าแห่งหนึ่ง ประกาศให้รางวัลทุนการศึกษา แก่นักเรียนในวัยต่างๆ ที่ชนะการประกวดระบายสีภาพ รางวัลทำนองนี้ นับว่า เป็นการให้ทุนที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจของผู้ให้เองด้วย |