เล่มที่ 12
การศึกษา
สามารถแชร์ได้ผ่าน :
            รูปถ่ายทางอากาศต้องมีการเหลื่อมล้ำหน้า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ และเหลื่อมล้ำข้าง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากรูปถ่ายทางอากาศ เป็นผลจากการฉายแบบทิวทัศน์ แต่แผนที่เป็นผลจากการฉายแบบตั้งฉาก ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนการฉายแบบทิวทัศน์ ให้เป็นการฉายแบบตั้งฉาก โดยการใช้เครื่องมือเขียนแผนที่ เครื่องมือเขียนแผนที่นี้มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตาม เราสามารถนำมาใช้ เพื่อถ่ายทอดรายละเอียดจากรูปถ่ายลงบนต้นร่างแผนที่ ซึ่งเปรียบเสมือนพื้นดินได้ทั้งสิ้น ดังนั้นเครื่องมือเขียนแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ จึงเป็นเครื่องมือที่นำเอาภาพภูมิประเทศ ที่ปรากฏบนรูปถ่าย ให้กลับมาเป็นลักษณะภูมิประเทศใหม่ อีกครั้งหนึ่ง ด้วยการใช้สัญลักษณ์แทนลักษณะภูมิประเทศนั่นเอง

ในการเขียนแผนที่ด้วยเครื่องมือ จำเป็นต้องอาศัยจุดบังคับรูปถ่ายช่วย จุดบังคับรูปถ่ายนี้ เป็นจุดที่ได้เลือกขึ้นอย่างดี และกำหนดลงบนรูปถ่าย แล้วนำรูปถ่ายเหล่านี้ออกไป สำรวจหาค่าพิกัดทางราบ และทางดิ่งในสนาม ตลอดจนสำรวจการจำแนกรายละเอียดต่างๆ เราใช้จุดบังคับรูปถ่ายในการจัดรูปถ่าย ให้มีลักษณะเหมือนกับลักษณะของรูปถ่ายขณะเครื่องบินกำลังทำการบิน และมีระดับความสูงของภูมิประเทศตรงกับความเป็นจริง

            เมื่อถ่ายทอดรายละเอียดทั้งหมดลงบนต้นร่างแผนที่ โดยอาศัยรูปถ่ายที่ได้มีการจำแนกรายละเอียดในสนาม ประกอบการเขียนทั้งหมดแล้ว ต่อไปก็ต้องนำต้นร่างแผนที่ไปประกอบเป็นระวางแผนที่ ตามมาตราส่วนที่ต้องการ แล้วทำการเขียนแยกสีรายละเอียดออกเป็นสีต่างๆ เช่น ใช้สีน้ำเงินแทนแม่น้ำลำคลอง บึง สีน้ำตาลแทนเส้นชั้นความสูง สีดำแทนชื่ออาคาร ถนน ทางเกวียน สีแดงแทนถนนสายประธาน ชื่อ และสีเขียวแทนพืชพรรณไม้ เมื่อเขียนแยกสีครบ ๕ สีแล้ว ก็นำต้นร่างเหล่านั้น มาประกอบกันกับต้นร่างพิกัดกริด นำไปพิมพ์เป็นแผนที่ต่อไป

            แผนที่ที่พิมพ์สำเร็จสมบูรณ์แล้ว จะปรากฏเป็นแผนที่ลายเส้นที่มีสีและสัญลักษณ์ ที่มีมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้ใช้แผนที่ ได้ใช้แผนที่ได้ตามความมุ่งหมายต่อไป

            นอกจากจะผลิตแผนที่ลายเส้นแล้ว เครื่องมือเขียนแผนที่ยังให้ข้อมูล ที่จะนำไปผลิตแผนที่รูปถ่ายออร์โทได้อีกด้วย แผนที่รูปถ่ายออร์โทเป็นรูปถ่ายที่ได้ทำการดัดแก้ จากการฉายแบบทิวทัศน์ ให้เป็นการฉายแบบตั้งฉากแล้ว มีการเพิ่มเส้นของชั้นความสูง ใส่ค่ากริด ชื่อ และประกอบเป็นระวางแผนที่ แผนที่รูปถ่ายนี้ใช้ได้สะดวกมาก เพราะผู้ใช้จะเห็นภาพภูมิประเทศโดยตรง ไม่ต้องมีสัญลักษณ์แทนลักษณะภูมิประเทศ

สมุดไทย

            คำว่า "สมุด" เป็นคำไทยดั้งเดิมใช้เรียกแผ่นกระดาษ ที่พับทบไปมา เหมือนพัดด้ามจิ้ว มีขนาดใหญ่พอที่จะเขียนเรื่องราวต่างๆ ลงไว้ พับเป็นปึกหนาประมาณ ๒-๓ นิ้ว เรียกว่า สมุดปึกหนึ่ง นับเป็นสมุดเล่มหนึ่ง ถ้าจะเทียบกับภาษาปัจจุบัน สมุดก็คือ หนังสือนั่นเอง สมุดเช่นนี้ เราใช้มาจนกระทั่งถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ยังมีใช้กันอยู่บ้าง แม้จะมีการพิมพ์ด้วยเครื่องจักร และมีการเย็บเล่มหนังสือ แบบหนังสือของชาวตะวันตกแล้ว บางครั้งเราก็เรียกหนังสือที่เขียนด้วยมือ และทำเล่ม โดยการพับกระดาษทบกันไปมาเป็นปึก ว่า สมุดไทย ถ้าเป็นหนังสือทางพระพุทธศาสนา หรือเป็นของพระมหากษัตริย์ก็เรียกว่า พระสมุด เรื่องขนาดยาวอาจประกอบด้วย สมุดไทยหลายปึก หรือหลายเล่ม สถานที่ ซึ่งเก็บรวมสมุดเช่นนี้ จึงได้ชื่อว่า ห้องสมุด หรือหอสมุด

ห้องสมุดในสมัยโบราณ

            ห้องสมุดที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และที่ตั้งขึ้น เป็นแหล่งแรก สันนิษฐานกันว่า เห็นจะได้แก่ ห้องสมุดตามวัด และพระราชวัง เพราะวัดเป็นที่ชุมนุมของนักบวช ซึ่งเป็นผู้รู้เรื่องศาสนา พระราชวังเป็นที่ซึ่งมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตรับราชการ หรืออยู่ในพระราชูปถัมภ์

            ห้องสมุดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่นักโบราณคดีได้ค้นพบ คือ ห้องสมุดของพระเจ้าซาร์กอนแห่ง อาณาจักรอัสซีเรีย (Sargon of Assyria) ซึ่งสร้างขึ้นประมาณ ๓๐๐ ปีก่อนพุทธกาล เป็นที่รวบรวมหนังสือความรู้ต่างๆ ในรูปของแท่งดินเหนียว สลักตัวอักษรรูปลิ่ม มีทั้งแท่งดินดิบ และแท่ง ดินเผา ห้องสมุดนี้ทำให้นักโบราณคดี และนักภาษาโบราณสามารถเรียนรู้อารยธรรม ของอาณาจักรโบราณในลุ่มแม่น้ำไทกริส และยูเฟรติสในตะวันออกกลางได้มาก ห้องสมุดแห่งนี้มีหนังสือ อยู่ประมาณ ๒๒,๐๐๐ แท่ง เจริญรุ่งเรืองมากในสมัยพระเจ้าอัสสุรบานิปาล พระราชนัดดา ของพระเจ้าซาร์กอนที่ ๒ มีหนังสือเพิ่มเติมมากขึ้น มีการจัดหมู่หนังสือ และลงบัญชีไว้เรียบร้อย ส่วนมากเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ศาสนา วรรณคดี หลักภาษา วิทยาศาสตร์เท่าที่รู้จักกันในสมัยนั้น และเศรษฐกิจ

            มีหลักฐานปรากฏในอาณาจักรที่เจริญรุ่งเรืองในสมัยโบราณต่อมาว่า มีห้องสมุดสำคัญๆ หลายแห่ง เช่น ในอียิปต์สมัยโบราณ มีห้องสมุดเมืองอะเล็กซานเดรีย (Alexandria) และห้องสมุดที่เมืองเพอร์กามุม (Pergamum) สมัยกรีกโบราณ มีห้องสมุดส่วนตัว ของอาริสโตเติล (Aristotle) ในยุโรปตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๐ มีห้องสมุด ขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คือ หอสมุดแห่งชาติฝรั่งเศส และหอสมุดแห่งชาติอังกฤษเป็นต้น

            ในซีกโลกตะวันออก อาณาจักรโบราณ เช่น จีน และอินเดีย ซึ่งมีความก้าวหน้าทางวิชา ความรู้และหนังสือ ก็มีการสะสมหนังสือด้วยเหมือนกัน ชาวจีนโบราณรู้จักวิธีทำกระดาษ สำหรับเขียนหนังสือ รู้วิธีพิมพ์หนังสือด้วยแผ่นไม้ และแกะตัวพิมพ์ มีการบันทึกความรู้ทำนอง สารานุกรม จดบันทึกพงศาวดารเรื่องราวในอดีต มีการแต่งวรรณคดี ชาวเกาหลีโบราณรู้จักวิธีพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์โลหะ และมีหน่วยราชการ "ว่าด้วยหนังสือ" ชาวอินเดียมีตำราว่าด้วยเทววิทยา ศาสนา วรรณศิลป์ และศิลปกรรมมาช้านาน อย่างไรก็ดี ความรู้เกี่ยวกับห้องสมุดหรือคลัง หนังสือของประเทศทั้งสองในสมัยโบราณ คงเป็นเรื่องที่จะต้องศึกษาค้นคว้าอย่างเป็นระบบกันต่อไป

ห้องสมุดในสมัยปัจจุบัน

            ในรอบร้อยปีที่ผ่านมา ห้องสมุดได้มีวิวัฒนาการก้าวหน้ามากทั้งในด้านปริมาณของ หนังสือ คุณภาพและมาตรฐาน ของการดำเนินงานด้านเทคนิคในการวิเคราะห์เนื้อหา ในการจัดกลุ่มหมวดหมู่ของเนื้อหาวิชาต่างๆ การจัดเก็บ สงวนรักษา จัดทำเครื่องมือค้นหาเรื่องราวที่ต้องการการจัดการฝึกอบรมบุคลากรในด้านวิชา- ชีพบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ การนำเครื่องจักรกล รวมทั้งเครื่องคอมพิวเตอร์มาใช้ในการจัดและการให้บริการทางความรู้ต่างๆ อย่างกว้างขวาง และสอดคล้องกับความต้องการ เป็นกำลังทางด้านวิชาความรู้ข่าวสาร และข้อมูลต่างๆ ที่จำเป็นในการพัฒนาทุกด้านของแต่ละคน และของสังคม

            ปัจจุบันนี้ เป็นที่รับรองทั่วโลกว่า ห้องสมุด เป็นสถาบันรวบรวมและให้บริการความรู้แก่บุคคล และสังคม รัฐบาลของประเทศต่างๆ ถือเป็นภารกิจที่จะจัดให้มี และสนับสนุนการดำเนินงาน และพัฒนาการของห้องสมุด โดยจัดสร้างงบประมาณให้เพียงพอ สำหรับจัดซื้อหนังสือ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ จัดสร้างและบำรุงรักษาสถานที่ จัดให้มีตำแหน่งสำหรับบรรณารักษ์ และเจ้าหน้าที่อื่นๆ ในห้องสมุด ให้ห้องสมุดเป็นหน่วยงานที่มีสถานภาพมั่นคง ให้มีการศึกษาทางวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์ และสารนิเทศศาสตร์ ในระดับอุดมศึกษา จัดทำมาตรฐานงานทางเทคนิค ส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพ และให้ทั่วถึงประชาชนในชาติ แม้ว่าการสนับสนุนจะมากน้อยแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ถ้ามองภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่า พัฒนาการของห้องสมุดในปัจจุบัน ในรอบ ๘๐ กว่าปีนี้ เพิ่มพูนเป็นหลายเท่าของพัฒนาการในระยะหลายร้อยปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันประชาชนที่มีการศึกษา ก็ใช้ประโยชน์จากหนังสือที่มีอยู่ในห้องสมุดมากขึ้นหลายเท่า